ส่งออกครึ่งปีแรกติดลบ 2.91% ส่วนเดือนมิ.ย.ติดลบ 2.15% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากปัญหาสงครามการค้า – พาณิชย์ยังลุ้นทั้งปีขยายตัวเป็นบวก 1-2%

ส่งออกครึ่งปีแรกติดลบ – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. 2562 ว่า มีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.15% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพ.ค. ที่ติดลบถึง 6.20% โดยสาเหตุที่ทำให้การส่งออกยังติดลบ เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทย ปรับตัวลดลงเกือบทุกรายการทั้งคอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ 15.5% และแผงวงจรไฟฟ้า ติดลบ 20.6% ยกเว้นทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับขยายตัว และยางพารากลับมาขยายตัวเดือนมิ.ย. 11.8% นอกจากนี้ ความขัดแย้งของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ยังเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะข้าวติดลบถึง 34.6% ตามความต้องการของตลาดที่ลดลง เนื่องจากจีนเริ่มเป็นผู้ส่งออกข้าวแทนการนำเข้า รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ 2.2%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวที่ 0.04% สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัว 317.4% เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัว 10.0% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.7% แต่สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ 22.0% แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวเกือบทุกตลาดที่ 20.6 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 15.5 เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวที่ 15.5% ทำให้รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ 2.6% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกครึ่งปีแรกมีมูลค่ารวม 122,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังติดลบ 2.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีในหลายตลาด เช่น สหรัฐ อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกยางพารากลับมาขยายตัวและมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งปริมาณและราคา นอกจากนี้ เครื่องเทศและสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่ม ขยายตัวดี ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากจำนวนนักเที่ยวท่องเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องสำอางขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของใช้ในบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกหดตัว 2.9%

ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น จากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยากให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท.มีหน่วยงานให้คำแนะนำและออกหลายมาตรการ ทั้งโครงการให้เงินเปล่า เพื่อไปทำประกันความเสี่ยง หรือการสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขาย หรือการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบสัญญาระยะยาวที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการค้าได้ โดยการส่งออกไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีในหลายตลาด เช่น สหรัฐ อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกยางพารากลับมาขยายตัวและมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งปริมาณและราคา นอกจากนี้ เครื่องเทศและสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่ม ขยายตัวดี ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากจำนวนนักเที่ยวท่องเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องสำอางขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของใช้ในบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น เนื่องจากภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ และยังมีโอกาสทดแทนสินค้าจากการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศต่างๆ รวมทั้งระยะเร่งด่วน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ยังสั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออกในการผลักดันให้การส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวมากขึ้น โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากตัวเลขการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยยังมีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวเป็นบวก 1-2% แม้เป้าการส่งออกจะตั้งไว้ที่ 3% หากไม่มีปัญหาเพิ่มเติมการส่งออกจะขยายตัวเพิ่ม 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังมีโอกาสที่การส่งออกจะได้ตามเป้าหมายอยู่

ส่วนการนำเข้าเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 9.44% แต่ยังเกินดุลการค้า 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก มูลค่านำเข้ารวม 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยยังได้ดุลการค้า 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน