ผักสด-ผลไม้-หมูราคาพุ่งดันเงินเฟ้อบวก 0.98% – ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 2

ผักสด-ผลไม้-หมูราคาพุ่ง – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ค. 2562 อยู่ที่ 103 สูงขึ้น 0.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา สูงขึ้นกว่าเดือนมิ.ย. 2562 ที่อยู่ระดับ 102.94 สูงขึ้น 0.87% ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสูงขึ้น 7.12% ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสุกร ข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า

ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัว โดยลดลง 3.31% ซึ่งลดลงน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ที่ลดลง 3.86% ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และการสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและการนำเข้าสินค้าอุปโภค รวมถึงรายได้เกษตรกร ที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคภายในประเทศเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.92%

พิมพ์ชนก วอนขอพร

นอกจากนี้ การลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต ลดลง 1.2% เดือนก่อนหน้าลดลง 1.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปี ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามทางการค้า ขณะที่ผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้น 7.6% ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ตามการสูงขึ้นของราคาข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพด และยางพารา เป็นสำคัญ และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลง 2.0% เดือนก่อนหน้า ลดลง 0.8% ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ของปี ตามการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และหมวดซีเมนต์ สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงเช่นกัน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 2 ของปี อยู่ที่ระดับ 47.8 เดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 48.1 ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.4

ปัจจัยบวกคือสินค้าในกลุ่มอาหารสด เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสด สูงขึ้น 20.01% เช่น มะนาว พริกสด มะเขือ จากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้น 9.18% เช่น ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 5.73% เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ปลานิล ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 4.02% โดยเฉพาะข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากปริมาณข้าวในสต๊อกมีน้อย ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 1.80% เช่น ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง โดยเฉพาะไข่ไก่ปรับตามต้นทุน คือ ค่าขนส่งและอาหารสัตว์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.90% เช่น น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้น 0.80% และ 1.12% ตามลำดับ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวราดแกง ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ขณะที่ปัจจัยทอนคือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปรับลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ลดลง เป็นความกังวลว่า อาจจะส่งผลต่อรายได้และความต้องการในประเทศในระยะต่อไป แต่เมื่อพิจารณายอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนว่าความต้องการภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่านโยบายของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและมีเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ระหว่าง 0.7-1.3% และเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 2.5บวกลบ1.5%

“ด้านการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเดือนก.ค. 2562 ยังไม่มีเม็ดเงินออกไป เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐ หากรัฐบาลใหม่เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการต่อจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าไป ทำให้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวขึ้นมาได้ ส่วนเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปภาพรวมเศรษฐกิจ ภาวะไม่ค่อยดี ชะลอตัวลง ทางกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าราคาสินค้าในประเทศจากการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคไม่ดีมาก แต่ไม่ได้แย่ รวมทั้งผู้ผลิต วัสดุก่อสร้าง สถานการณ์ทรงๆ ไม่ได้แย่มาก แต่ไม่มีสัญญาณขยายตัวเร็วและแรง และขอฝากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพราะหากทิ้งไว้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดขณะนี้ คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมเกี่ยวกับส่งออก เพราะเมื่อการส่งออกชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมไทยยอดขายชะลอตัวลงด้วย ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 29 เดือน ดังนั้นต้องดึงเศรษฐกิจในประเทศ โดยเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรเพิ่ม ด้านกระทรวงคมนาคมมีนโยบายทบทวนค่าขนส่งและการจะขึ้นค่าแรง อยากให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน