ม็อบรถตู้ ยื่นหนังสือคมนาคม ขอยกเลิกติดจีพีเอสชี้ละเมิดสิทธิ์ ขาดอิสรภาพในการเดินทางขยายอายุการใช้งานรถเป็น 15 ปี เพราะทำให้รถตู้กว่า 8,000 คัน ได้รับผลกระทบ ต้องหยุดวิ่งให้บริการ

ม็อบรถตู้ / เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 ส.ค. ตัวแทนจากสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด และสมาคมรถตู้วีไอพีประเทศไทย (รถตู้เพื่อการท่องเที่ยว) ประมาณ 30 คน เดินทางมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยตัวแทนรัฐมนตรีเข้ารับหนังสือแทน

นายชนกันต์ พร้อมมูล นายกสมาคมรถตู้วีไอพีประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาชิกรถตู้รับจ้างไม่ประจำทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ รมว.คมนาคมช่วยเหลือกรณีที่กฎหมายของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีความไม่เป็นธรรมจนส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ โดยที่ผ่านมาขบ. บังคับให้รถติดจีพีเอส เพื่อจำกัดความเร็วไม่ให้เกิน 90 กม/ชม. และกำหนดให้ขับชิดชอบทางด้านซ้าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของรถตู้โดยสารเพื่อการท่องเที่ยวที่ใช้งานระยะไกลและต้องใช้ความเร็ว

ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถตู้ท่องเที่ยวเดือดร้อนในวงกว้าง เพราะหากขับเร็วจะถูกปรับทันที 1 พันบาท/ความผิด 1 ครั้ง รวมทั้งบางครั้งรถมีความจำเป็นต้องใช้ความเร็วเกิน 90 กม./ชม. ในช่วงการแซงแต่ก็ยังถูกจับปรับ นอกจากนี้ มองว่ามาตรการการบังคับให้รถติดจีพีเอสตลอดเวลา ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลและขาดอิสรภาพในการเดินทาง

“เรามองว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม จึงขอเสนอให้ขบ.ยกเลิกการบังคับติดตั้งระบบจีพีเอสในรถตู้รับจ้างไม่ประจำทาง เปลี่ยนเป็นรูปแบบสมัครใจแทน รวมทั้งให้ยกเลิกใบสั่งย้อนหลังที่เกิดจากจีพีเอสทั้งหมดในทันที เนื่องจากจีพีเอสไม่สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมทั้งขบ.มีกล้องจับความเร็วตามพื้นดินอยู่แล้ว 246 ตัว และยังมีกล้องภาคพื้นดินของตำรวจในแต่ละภูมิภาค เพียงพอต่อการตรวจจับแล้วโดยไม่ต้องใช้ระบบจีพีเอส” นายชนกันต์ กล่าว

นายบุญส่ง ศรสกุล นายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด เปิดเผยต้องการ เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะประจำทางทุกหมวด ที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลได้เคยจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะไว้ว่า 1.ขอให้กระทรวงคมนาคมขยายอายุการใช้งานรถตู้สาธารณะทุกหมวด จากเดิมที่จากเดิมบังคับให้อายุใช้งานไม่เกิน 10 ปี ให้ขยายอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 15 ปี เนื่องจากการบังคับดังกล่าวทำให้รถตู้กว่า 8,000 คันได้รับผลกระทบหมดอาชีพต้องหยุดวิ่งให้บริการมาตั้งแต่ปี 60-61 จำนวน 185 คัน และจะต้องหยุดบริการในปี 62-68 อีกรวมกว่า 5,760 คัน

2.ขอให้กระทรวงคมนาคมเปิดภาคสมัครใจให้ผู้ประกอบการ กรณีที่รถตู้ที่มีอายุ 10 ปี จากเดิมบังคับให้รถอายุ 10 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ให้เปิดกว้าง หากผู้ประกอบการรายใดไม่ประสงค์เปลี่ยนรถเป็นมินิบัสก็ให้สามารถทำได้ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนจากการเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัสจำนวนมาก เดิมต้นทุนรถตู้ประมาณ 1.3 ล้านบาท/คัน หากเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส จะมีราคาสูงถึง 2.5 ล้านบาท/คัน ทันที

นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการที่สมัครใจเปลี่ยนรถเป็นมินิบัสทางภาครัฐบาล หรือกระทรวงคมนาคม ควรที่จะกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเช่น การลดภาษีนำเข้า, การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, การขยายการจัดไฟแนนซ์เป็น 10 ปี ดาวน์เพียง 5% เป็นต้น

นายบุญส่ง กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอที่จะให้กระทรวงคมนาคมช่วยเหลือข้อ 3.คือ ขอให้รัฐบาลยังคงรถตู้หมวด 2 (ช.) ซึ่งเป็นรถตู้ที่ภาครัฐสมัย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบรถตู้ และที่ได้มีการกำหนดว่ารถตู้ที่จัดระเบียบช่วง และหมวด ช. ดังกล่าว จะต้องมีอายุสัญญาวิ่งให้บริการเพียง 7 ปีเท่านั้น ซี่งจะหมดอายุในปี 64 จากที่มีการจัดระเบียบ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 7 ปีไม่สามารถต่ออายุ หรือเปลี่ยนรถมาให้บริการได้นั้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ในเรื่องนี้ทางผู้ประกอบการขอให้กระทรวง พิจารณาให้รถประเภทนี้ยังสามารถวิ่งต่อได้โดยมีอายุสัญญา 10 ปี เหมือนรถ 2 (ต.) และหมวด 2 (ช) สาเหตุเนื่องจากรถเส้นทางต่างๆดังกล่าวหากยกเลิกไปจะส่งผลกระทบให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีรถโดยสารใช้บริการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน