พายุวิภาช่วยเติมน้ำในลำน้ำสาขาตั้งแต่ จีน-พม่า-ลาว-ไทย ส่งผลระดับน้ำแม่โขงเพิ่มสูงขึ้น สทนช. ออกประกาศ 4 จังหวัดริมโขงรับมวลน้ำจากสปป.ลาว 7-8 ส.ค. จ.หนองคาย ระดับน้ำแนวโน้มขึ้นสูงฉับพลันประมาณ 2 เมตร ก่อนถึงโขงเจียม 10 ส.ค.นี้

พายุวิภาช่วยเติมแม่น้ำโขง – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุวิภาในระยะนี้ ส่งผลทำให้มีปริมาณฝนตกลงในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงตลอดสายตั้งแต่ประเทศจีน เมียนมา สปป.ลาว และไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 ระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน จ.เลย ได้เพิ่มระดับขึ้น 2 เมตร ซึ่งเป็นผลมาจากฝนที่ตกจากพายุวิภาในพื้นที่ สปป.ลาว จากหลวงพระบาง โดยมวลน้ำก้อนนี้จะถึงจ.หนองคาย วันนี้-8 ส.ค. โดยคาดว่ามีระดับน้ำสูงประมาณ 2-2.2 เมตร จากระดับน้ำปัจจุบัน 5.97 เมตร ก่อนไหลต่อไปยัง จ.นครพนม ในวันที่ 9 ส.ค. คาดว่าจะระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจากปัจุจบัน 4.33 เมตร อีก 2-2.5 เมตร และ จ.มุกดาหาร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2-2.2 เมตร จากปัจจุบัน 4.65 เมตร และอุบลราชธานี ในวันที่ 10 ส.ค.ตามลำดับ โดยคาดว่าระดับน้ำจะมีความสูงขึ้น 2.8-3.0 เมตร จากปัจจุบัน 5.25 เมตร ซึ่งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจได้ออกประกาศแจ้งเตือนจังหวัดริมโขงที่แม้จะไม่ประสบภาวะน้ำล้นตลิ่ง แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่จะเปลี่ยนแปลงฉับพลันได้

“ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้นในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นก่อนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ โดยจีนจะปรับลดช่วงระหว่างวันที่ 11-15 ส.ค. ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงฝั่งไทยมากนักเฉลี่ยลดลงประมาณ 20-30 ซ.ม. เนื่องจากอิทธิพลของพายุวิภาได้เพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาแล้ว ทั้งนี้ ปริมาณอัตราการไหลของน้ำจากลำน้ำสาขาของประเทศจีน เมียนมา สปป.ลาว และไทย ที่มาเติมระดับน้ำในลำน้ำโขง ในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค. จะขึ้นกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยอัตราการไหลของลำน้ำสาขาที่จะมาเติมในลำน้ำโขง จากสถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงสถานีเชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 1,000-4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จากสถานีเชียงแสน จ.เชียงราย ถึงสถานีเชียงคาน จ.เลย ประมาณ 800-4,900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และจากสถานีเชียงคาน จ.เลย ถึงสถานีหนองคาย จ.หนองคาย ประมาณ 500-600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำโขงลดลงไม่มากนัก”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า แม้ว่าอิทธิพลของ “พายุโซนร้อนวิภา” จะส่งผลให้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บรรเทาลงในบางพื้นที่ แต่ก็ยังพบว่าปริมาณฝนที่ตกไม่ไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้มากนัก โดยล่าสุดพบว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.-7 ส.ค. 2562 จำนวน 1,557 ล้านลบ.ม. และหลายพื้นที่ยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ สทนช. จึงได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อหารือเร่งปรับแผนลดการระบายน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ โดยพิจารณาจาก 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ปริมาณน้ำที่มีอยู่ปัจจุบัน 2. ปริมาณน้ำคาดการณ์ที่จะไหลเข้าอ่าง 3. ปริมาณความต้องการใช้น้ำปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยมีการติดตามสถานการณ์น้ำและสรุปข้อมูลรายวัน รวมถึงการคาดการณ์และการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องต้องใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อประเมินและกำหนดมาตรการรองรับช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน) ณ วันที่ 6 ส.ค. มีน้ำใช้การ ใน 4 เขื่อนหลัก รวมเหลือเพียง 1,064 ล้าน ลบ.ม. ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันโดยกรมชลประทานและกฟผ. จะปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แบบขั้นบันได ให้เป็นไปตามแผนการระบายน้ำมากสุดจาก 4 เขื่อนหลัก ช่วง 5 ส.ค.-31 ต.ค. 2562 รวม 862 ล้านลบ.ม. โดยภายในสัปดาห์นี้ได้เริ่มลดการระบายจาก 4 เขื่อนลงวันละ 10 ล้านลบ.ม. และสัปดาห์หน้าลดลงวันละ 8 ล้านลบ.ม. เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศในฤดูแล้งนี้ และเป็นต้นทุนน้ำสำรองต้นฤดูฝนหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเหลือน้ำใช้การ ณ 1 พ.ย. 2562 ประมาณ 4,831 ล้านลบ.ม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน