เครือข่ายลูกจ้าง ยื่น “หม่อมเต่า” ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ชงเพิ่มสิทธิคนงาน

วันที่ 15 ส.ค. นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนและ สพท. จำนวน 30 คน ได้เดินทางมาขอเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เพื่อหารือถึงปัญหาด้านแรงงาน โดยสิ่งที่เครือข่ายเสนอ คือ เรื่องของนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ซึ่งสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานฯ และองค์กรแรงงานภาคีเครือข่ายเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่รัฐบาลได้แถลงเป็นนโยบายก่อนหน้านั้น

นายมนัส กล่าวว่า นอกจากนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน กังวลว่าจะเกิดผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวในบุคคล 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานส่วนราชการ และผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ บางประเภทกิจการ จึงมีข้อเสนอต่อ รมว.แรงงานอีก 7 เรื่อง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

คือ 1.ปฏิรูปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน คือ กรณีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง ลาออกจากงาน หรือพ้นจากการเป็นลูกจ้าง ไม่ว่ากรณีใดๆ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานในอัตราเดียวร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ระยะเวลาจ่าย 180 วัน 2.ปฏิรูปค่ารักษาพยาบาลกองทุนเงินทดแทนให้เท่าเทียมกับสิทธิการรักษาพยาบาลกองทุนอื่น อย่างกรณีลูกจ้างได้รับอุบัติเหตุ เจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานหรือตามคำสั่งของนายจ้างให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลจนกว่าสิ้นสุดการรักษา จากเดิมที่มีการตั้งเพดานไว้

3.รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่ม “กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” 1 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 และขยายวงเงินช่วยเหลือลูกจ้าง กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้าง หรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามหลักเกณฑ์ คือ ทำงานครบ 120 เดือน แต่ไม่ถึง 3 ปี จ่าย 90 วัน ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จ่าย 180 วัน ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จ่าย 240 วัน และทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจ่าย 300 วัน

4.ปฏิรูปการจ้างงาน หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐให้เป็นการจ้างแรงงานให้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และกฎหมายกองทุนเงินทดแทน เพราะปัจจุบันมีการจ้างงานหลายรูปแบบ ทำให้ลูกจ้างส่วนราชการไม่มีความมั่นคงในการทำงาน และสภาพการจ้างงานไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน

5.รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ 6.รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน มาตรการระยะยาว 4 ปี และปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์การอิสระ และ 7.ค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้มีโครงสร้างค่าจ้างประจำปีหรือตามทักษะฝีมือแรงงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน