กรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมรับมือผลกระทบจากภัยแล้ง เสี่ยงเกษตรกรชำหนี้ไม่ได้ ขณะวิธีการปรับโครงสร้างซ้ำๆ ทำให้แนวโน้มหนี้สูงขึ้น เผยปี’60 สหกรณ์มีหนี้กว่า 175,063.68 ล้าน เป็นเอ็นพีแอล 41,618.17 ล้าน

ภัยแล้งพ่นพิษผลผลิตเสียหาย – นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2562 คาดว่าผลผลิตทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบเสียหายเป็นจำนวนมาก

ขณะที่หนี้สินของสมาชิกสหกรณ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริหารจัดการของสหกรณ์แต่ละแห่งที่ใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำๆ แทนการสนับสนุนสร้างรายได้เพิ่มเพื่อให้สมาชิกสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งจากการสำรวจภาพรวมเงินการให้สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรกู้ยืม พบว่ามีทั้งสิ้น 175,063.68 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร 163,595.84 ล้านบาท สมาชิกสหกรณ์ประมง 590.13 ล้านบาท สมาชิกนิคมสหกรณ์ 8,227.51 ล้านบาท และสมาชิกกลุ่มเกษตรกร 2,660.20 ล้านบาท

สำหรับหนี้สินดังกล่าวเป็นหนี้สมาชิกปกติ รวม 133,445.79 ล้านบาท แยกเป็นหนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร 125,011.84 ล้านบาท ประมง 434.24 ล้านบาท สมาชิกนิคมสหกรณ์ 5,960.94 ล้านบาท และสมาชิกกลุ่มเกษตรกร 2,038.77 ล้านบาท และหนี้เอ็นพีแอล 41,618.17 ล้านบาท แยกเป็นหนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร 38,574.28 ล้านบาท สมาชิกสหกรณ์ ประมง 155.89 ล้านบาท สมาชิกนิคมสหกรณ์ 2,266.57 ล้านบาท และสมาชิกกลุ่มเกษตรกร 40,996.74 ล้านบาท

สาเหตุที่ส่งผลให้หนี้เป็นเอ็นพีแอล เป็นเพราะดินฟ้าอากาศ ราคาผลผลิตผันผวน ตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ความสามารถในการชำระหนี้ขึ้นอยู่อยู่กับรายได้จากการขยายผลผลิต และพฤติกรรมการใช้จ่ายของสมาชิก ดังนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงมีแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินดังกล่าว 3 วิธีการคือ ให้สหกรณ์ปรับวิธีการให้สมาชิกกู้ โดยการแบ่งตามกองแหล่งที่มาของเงินทุน คำนวนต้นทุนเงินจากแต่ละแห่ง ปรับวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับต้นทุนเงิน กำหนดวงเงินกู้ตามความสามารถสมาชิก แหล่งเงินกู้ระยะสั้นให้กู้ระยะสั้น แหล่งเงินกู้ระยะยาวให้กู้ยาว กำหนดวิธีการติดตามหนี้ก่อนถึงกำหนด และมีระบบการจัดเก็บข้อมูลรองรับ

“กองหนี้ส่วนใหญ่กว่า 63% มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รองลงมาคือหนี้ธนาคารพาณิชย์ หนี้สหกรณ์ภาคการเกษตร หนี้ในกำกับการดูแลของกระทรวงเกษตร และหนี้กองทุนฟื้นฟู”

2. ส่งเสริมอาชีพเดิม เพิ่มอาชีพเสริมสร้างรายได้แก่สมาชิก โดยให้สหกรณ์ประสานด้านการตลาด และสหกรณ์จัดทำเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพโดยเฉพาะพร้อมกับการให้เงินกู้ และ 3 กำหนดวิธีการแก้ปัญหาหนี้ค้าง มาตรการต่างๆ โดยสหกรณ์กับสมาชิกต้องแก้ร่วมกันก่อน ทั้งการพักหนี้ ลดหนี้ ลดดอกเบี้ยและค่าปรับ โดยการแบ่งกองหนี้ออกเป็น หนี้กองทุนฟื้นฟู หนี้ปกติ หนี้ เอ็นพีแอล และหนี้ที่ส่งไม่ได้แน่นอน พร้อมหามาตรการช่วยเหลือระหว่างรัฐ-สหกรณ์-กลุ่มเกษตรกร-เจ้าหนี้ และหามาตรการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้แก้ปัญหาหนี้ได้ อันดับแรกคือ ต้องหาแหล่งน้ำก่อนซึ่งเป็นพื้นฐานการประกอบอาชีพ โดยปีที่ผ่านมากองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) วางกรอบเงินกู้ไว้ 1,600 ล้านบาทดอกเบี้ย 1% เพื่อให้สหกรณ์ใช้ขุดบ่อบาดาล สระน้ำขนาดเล็ก และสร้างอาชีพ ระยะเวลา 5 ปี ภายใต้การควบคุมของกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพียงพอจะชำระหนี้ดังกล่าวได้ และเพียงพอจะชำระหนี้อื่นๆ ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน