สศช. เผยหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งอันดับ 11 ของโลก มูลค่ารวม 12.97 ล้านล้านบาท ใกล้แตะภาวะวิกฤตที่ 80% ของจีดีพี ส่วนหนี้เสียไตรมาส 2/2562 ก็พุ่ง 10% โดยเฉพาะบัตรเครดิต เร่งจับตาใกล้ชิด

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งอันดับ11โลก – นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. กำลังจับตาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรกปี 2562 พบว่ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 โดยปัจจุบันมีมูลค่ารวมถึง 12.97 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.3% และคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อจีดีพี เข้าใกล้ภาวะวิกฤตที่ 80% ต่อจีดีพีแล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ สศช. มองว่า เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว โดยปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยก็ติดอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก และถือเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศเกาหลีใต้

ขณะเดียวกันหากพิจารณาตัวเลขภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในไตรมาสสองปี 2562 พบว่า ตัวเลขยังเติบโตในระดับสูงที่ 9.2% แม้จะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 10.1% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้น 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปีตั้งแต่ไตรมาสสี่สุดท้ายปี 2558 โดยเฉพาะยอดคงค้างบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 8.8% มาอยู่ที่ 9.7% ในไตรมาสนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และเพื่อรถยนต์ยังคงชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน

ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสสองปี 2562 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.74% ต่อสินเชื่อรวม และคิดเป็น 2.75% ต่อเอ็นพีแอลรวม โดยเฉพาะเอ็นพีแอลของรถยนต์ เพิ่มขึ้น 32.3% และบัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 12.5% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 7,322 ล้านบาท กลับมาขยายตัว 4.3% หลังจากหดตัว 3.6% ในไตรมาสก่อน

“ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ใกล้ถึงระดับ 80% เท่าที่สศช. ประมาณตัวเลขทางเศรษฐกิจคิดว่า จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ไม่น่าจะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นถึงระดับ 80% แต่สิ่งสำคัญที่ต้องดูใกล้ชิด คือ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นยอดสินเชื่อที่เป็นเอ็นพีแอลของรถยนต์และบัตรเครดิตที่กลับมาเพิ่มมากขึ้น ก็คงต้องดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลายที่ออกมา และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปลายปี ก็น่าจะช่วยดันตัวเลขเอ็นพีแอลของรถยนต์และบัตรเครดิตไม่เพิ่มสูงขึ้นได้”

นายทศพร กล่าวว่า แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลัง ก็คงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ แต่หากดูด้านคุณภาพสินเชื่อกลับมีแนวโน้มที่จะด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ออกมา และธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อในลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติ หรือมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน