คลังคิกออฟแสนล้านคืนชีพฐานราก ดึงส่วนราชการ-แบงก์รัฐ ออกมาตรการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต 30 ล้านคน เล็งตั้งธนาคารชุมชนทั่วประเทศ 7,000 แห่ง หว่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.25% ต่อเดือน ล้อมคอกกู้นอกระบบ

คลังคิกออฟแสนล้านคืนชีพฐานราก – นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ก.ย. 2562 นี้ จะมีการเปิดตามแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการคลัง มหาดไทย พลังงาน อุตสาหกรรม ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สมาคมธนาคารไทย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกองทุนหมู่บ้าน ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ซึ่งจะใช้เม็ดเงินในการดำเนินงานไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท โดยจะมีทั้งเงินจากงบประมาณและเงินจากสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมาย ช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากที่มีอยู่ 25-30 ล้านคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ร่วมมือกันเป็นองค์รวมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนระดับฐานรากมีคุณภาพดีขึ้น ทั้งด้านรายได้และความสุข โดยไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตของจีดีพี

“เราจะมีการให้สวัสดิการที่ดีกับฐานราก โดยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น กรมธนารักษ์จะหาพื้นที่ มาใช้เป็นตลาดชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงกรมพัฒนาชุมชนจะเข้ามาช่วย โดยเน้นที่ประชาชนในพื้นที่จริงๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ ซึ่งจะสามารถทำให้เศรษฐกิจภายในเกิดความเข้มแข็ง ชดเชยกับเศรษฐกิจภายนอกที่มีปัญหา ทั้งปัญหาราคาน้ำมันในตะวันออกกลาง และสงครามการค้า ที่เราควบคุมไม่ได้”นายประสงค์ กล่าว

สำหรับการดำเนินงานของธนาคารชุมชนนั้น รัฐบาลมีแผนจัดตั้งธนาคารชุมชนในอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ 7,000 แห่ง เพื่อเป็นกลไกการไก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับประชาชนในชุมชน เนื่องจากประชาชนระดับฐานรากมีปัญหาหนี้นอกระบบและถูกคิดอัตราดอกเบี้ยสูง 3-5% ต่อเดือน ซึ่งธนาคารชุมชน จะเข้ามาปิดช่องโหว่ในส่วนดังกล่าว ด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1.25% ต่อเดือน โดยไม่จำกัดวงเงินในการปล่อยกู้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการในชุมชน

ทั้งนี้ ธนาคารชุมชนจะมีธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในการวางระบบธนาคาร การเชื่อมโยงข้อมูล และให้ความรู้ด้านการเงินกับชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาการปล่อยกู้ เพราะคนในพื้นที่ จะรู้ถึงพฤติกรรมของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าปีแรก จะเกิดธนาคารชุมชนได้อย่างน้อย 400-500 แห่งทั่วประเทศ

“ตอนแรกจะมีเป็นรายอำเภอก่อน และค่อยขยายไปในตำบลต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละชุมชน โดยการให้สินเชื่อนั้น จะพิจารณาเร็วเพียง 1-2 วันเท่านั้น เพราะพวกเขารู้จักกันดี พิจารณาได้ไว ซึ่งตรงนี้จะปิดช่องการไปกู้นอกระบบได้ดี และจะกู้รายละเท่าไร ก็พิจารณากันได้เอง ไม่มีจำกัดวงเงิน และบางรายไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้”นายประสงค์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน