นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีผู้โดยสารเฉลี่ย 6 หมื่นคนต่อวันและเคยสูงสุดที่ 8.5 หมื่นคนต่อวัน แต่องค์กรก็ยังขาดทุน 300 ล้านบาทต่อปี และมีจำนวนรถไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเร่งจัดซื้อรถไฟฟ้าใหม่อีก 7 ขบวน จากปัจจุบันมีอยู่ 9 ขบวน เพื่อเพิ่มความสามารถในการรอบรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1.3 แสนคนต่อวันซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าให้เปิดประมูลจัดซื้อให้ได้ภายในปีนี้

รวมทั้งต้องปรับโมเดลธุรกิจให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณ บุคคลกร และกำไรขาดทุนได้เอง เปลี่ยนจากการรับจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดินรถ เป็นเดินรถด้วยตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นอาจจะต้องเช่ารางจาก รฟท. ในราคาถูก ซึ่งการบริหารในรูปแบบบริษัทจะทำให้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีแรงจูงใจในการทำกำไรให้องค์กรมากขึ้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนรูปแบบธุรกิจภายในปีนี้ และสั่งการให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จัดทำแผนพัฒนาทรัพย์สินในเชิงพาณิชย์กลับมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะแผนพัฒนาทรัพย์สินบริเวณสถานีต่างๆ และบริเวณที่จอดรถ เนื่องจากที่ผ่านมายังใช้ประโยชน์จากพื้นที่สถานีเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก และยังสั่งการให้เร่งจัดหาตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่เข้ามาบริหารโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าภายใน 2 เดือนน่าจะเรียบร้อย

นายพิชิต กล่าวถึงกรณีที่จะรวมโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เข้าด้วยกันว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ว่าจะยุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ควรมีทิศทางอย่างไร เพราะคณะกรรมการนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องพิจารณารายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงให้จบก่อน จากนั้นจะพิจารณาความเหมาะสมของผู้บริหารโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและกำหนดทิศทางของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ไปพร้อมกัน

โดยสิ่งที่ชัดเจนตอนนี้คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงจะประมูลด้วยรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) ส่วนจะให้โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อยู่กับ รฟท. เช่นเดิม หรือจะให้เอกชนผู้รับสัมปทานนำไปบริหารนั้น ก็เป็นไปได้ทั้ง 2 รูปแบบ ซึ่งคณะกรรมการอีอีซีก็จะเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ทบทวนเงื่อนไขการประมูล (TOR) โครงการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวนเรียบร้อยแล้ว โดยจากนี้จะเสนอร่าง TOR ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. พิจารณา จากนั้นคาดว่าจะเสนอให้บอร์ด รฟท. เห็นชอบภายใน 2-3 เดือนข้างหน้าและน่าจะเปิดประมูลได้ทันภายในปีนี้ ส่วนมูลค่าโครงการน่าใกล้เคียง 4,400 ล้านบาทเท่าTOR เดิม

สำหรับการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าขบวนใหม่จะทำให้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 72,000 คนต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยแล้ววันจันทร์-ศุกร์มีผู้โดยสารประมาณ 68,000 คนต่อวัน แต่ในวันศุกร์จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,000 คนต่อวัน ซึ่งเกินความสามารถในการรองรับได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน