คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ลุยหั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโตแค่ 2.7-3% ส่วนส่งออกอาจติดลบหนักถึง 2% – พิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า บาทแข็งค่า

เอกชนหั่นจีดีพีปีนี้โตแค่2.7% – นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. มีมติปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2562 ลงอยู่ที่ 2.7-3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.9-3.3% การส่งออกคาดติดลบ 2-0% จากเดิมคาดติดลบ 1 ถึงโต 1% และเงินเฟ้อคงอยู่ที่ 0.8-1.2% หลังจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2562 ยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงต่อเนื่องชัดเจนจากครึ่งปีแรก

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกยังคงหดตัวเป็นวงกว้างทั้งรายการสินค้าและตลาดส่งออกหลัก ซึ่งสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนและยืดเยื้อ ประกอบกับแรงขับเคลื่อนในประเทศยังแผ่วลง ทั้งการบริโภคและการลงทุน มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวดีเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในฐานต่ำ

ทั้งนี้ แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และ ชิม ช้อป ใช้ ที่ประเมินว่าจะเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2% ซึ่งคาดว่าแรงบวกจะชดเชยผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหลายด้านได้บ้าง แต่คงไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด

“ภาคเอกชนคาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากภาครัฐเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยควรมีการเสนอราคาเป็นสกุลเงินบาทรือสกุลเงินท้องถิ่น”

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งคาดจะสร้างความเสียหายและกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร ซึ่งจากการหารือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องการให้ภาครัฐลดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งดการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นทุกชนิด เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีป้ายเป็นเวลา 1 ปี โดยเฉพาะแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ขณะเดียวกัน ขอให้รัฐลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีในพื้นที่ประสบภัยที่ยังมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน และขอให้รัฐสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีเงินทุนหมุนเวียน เพื่อซ่อมแซมเครื่อจักรและฟื้นฟูสถานประกอบการ ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 1% หรือต่ำกว่าเป็นเวลานาน 2 ปี ขณะที่ภาคเอกชนจะช่วยเหลือเรื่องวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน