นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อ 3 ฉบับให้เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ภาคบังคับ (มอก. ภาคบังคับ) จากเดิมเป็นมอก.ทั่วไปเท่านั้น คือ ผลิตภัณฑ์ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์ และช่วงล่าง (ยูเอ็น อาร์30) ใช้กับรถยนต์นั่งบุคคล, ผลิตภัณฑ์ยางล้อแบบสูบลม สำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง (ยูเอ็น อาร์ 54) และผลิตภัณฑ์ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด (ยูเอ็นอาร์ 75) เนื่องจากปัจจุบันเป็นเพียงมาตรฐานทั่วไป ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องนำมาตรวจสอบ ส่งผลให้มียางที่ไม่ได้คุณภาพส่วนหนึ่งออกจำหน่าย โดยเฉพาะการนำยางที่หมดอายุแล้ว หรือยางตายมาตีทะเบียนปีผลิตยางใหม่ หรือนำยางมาหล่อดอกใหม่แล้วอ้างว่าเป็นยางใหม่ ส่งผลต่อความปลอดภัยผู้บริโภค

“ผลิตภัณฑ์ยางถือเป็นอุปกรณ์สำคัญของรถที่ส่งผลต่อความปลอดภัยโดยตรง และหลายครั้งยางไม่มีคุณภาพเป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ต่อไปประกาศเป็นมอก. ภาคบังคับ ผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและจำหน่ายทุกราย จะต้องยางมาตรวจสอบให้ได้มาตรฐาน และติดตราสัญลักษณ์มอก. โดยจะต้องผ่านการทำสอบหลายอย่าง เช่น ทดสอบความยืดหยุ่นในการรับน้ำหนัก การทดสอบสมรรถนะน้ำหนักต่อความเร็วของยางล้อ การสึกดอกยาง ทดสอบความร้อนกับความดันยาง เชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างมาก และยังเป็นส่วนหนึ่งในการลบสถิติไทยติดอันดับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย”

นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สมอ.ได้ส่งหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ และสำนักงานสมอ.ทุกจังหวัด ขอให้เข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มักใช้กันมากในช่วงเทศกาล และเป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ เช่น หมวกกันน็อก ท่อไอเสีย ปืนฉีดน้ำ บอลยาง สระน้ำลมยาง เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หากพบผู้ประกอบการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฉวยโอกาสนำผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานออกมาจำหน่าย ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที

นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ รองเลขาธิการสมอ. กล่าวว่า การประกาศมอก.ภาคบังคับดังกล่าว คาดว่าจะประกาศได้ภายในต้นปีหน้า จากเดิมจะประกาศได้ภายในปลายปีนี้ เนื่องจากขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามมาตรฐานดังกล่าว ยังมีข้อเสนอแนะที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น การแสดงสัญลักษณ์มอก. บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบุว่า ขั้นตอนการแสดงสัญลักษณ์บนแก้มยาง ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มขั้นตอนการในผลิตมากขึ้น เช่น การสกีน การใช้เลเซอร์ การปั๊มนูน ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวต้องห้ามหาย ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทาง รวมทั้งยังมีข้อคิดเห็นในขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ

ทั้งนี้ มอก.ภาคบังคับดังกล่าว จะช่วยให้ผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์ยางที่ได้มาตรฐาน เพิ่มความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการยางหลายราย ฉวยโอกาสนำเข้ายางที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่าย รวมทั้งมีผู้ประกอบการนำยางที่จำหน่ายไม่ได้ 2-3 ปี มาตีทะเบียนปีการผลิตใหม่ ทั้งที่ยางอายุ 2-3 ปี หากไม่ได้ใช้งาน จะเป็นยางเสื่อมสภาพ หรือยางตาย ไม่มีความยืดหยุ่นเกาะพื้นถนน หรือบางรายนำยางเก่ามาหล่อดอกยางใหม่ ซึ่งประสิทธิภาพการใช้งานจะไม่เหมือนกับยางใหม่ที่ได้มาตรฐาน

“ระหว่างนี้อยากแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อยางคุณภาพจากร้านที่ไว้ใจได้ น่าเชื่อถือ หากเป็นไปได้ให้ขอดูการสั่งการซื้อยางจากผู้ประกอบการว่า ซื้อมาปีไหน รวมทั้งให้ตรวจสอบคุณภาพยางด้วยตัวเองเบื้องต้น ขับแล้วลื่นหรือไม่ เกาะถนนหรือไม่ และเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน