ศักดิ์สยาม ถอยเลื่อนเซ็นสัญญา ซีพี ไฮสปีด 3 สนามบิน หลังกดดันให้บอร์ดรถไฟลาออก

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมว่า ภายหลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มีการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยกำหนดให้กลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณา ต้องมาเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ต.ค.หากปฏิเสธจะถูกริบหลักประกันซอง 2 พันล้านบาทแบะอาจถูกแบล็กลิสต์เป็นผู้ทิ้งงานนั้น

ล่าสุดเกิดปัญหาเกี่ยวกับวันที่รัฐกำหนดให้กลุ่มซีพีมาเซ็นต์สัญญา อาจจะต้องเลื่อนออกไปจากเดิมกำหนดเป็นวันที่ 15 ต.ค. เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ยื่นหนังสือลาออกไปแล้ว หากซีพีมาลงนามจะทำให้สัญญาเป็นโมฆะทันที เนื่องจากสัญญาจะไม่มีผลผูกพันธ์กับรถไฟซึ่งจากกรณีดังกล่าว จึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ รฟท.สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็น

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สาเหตุที่บอร์ดรถไฟต้องลาออกเกิดจากถูกนายศักดิ์สยามออกมากดดันให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้มีการเสนอรายชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว โดยเป็นการเสนอรายชื่อคู่เทียบไปให้สคร.พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งนี้ผู้เสนอไม่มีอำนาจไปกำหนดว่าจะเลือกใคร

อย่างไรก็ตาม เมื่อ สคร. พิจารณาแล้วเสร็จ จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อเห็นชอบ จากนั้นจะส่งกลับมาให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า โดยในเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม คาดว่าแม้ว่าจะมีเวลากระชั้นชิดแต่อย่างไรก็มั่นใจว่าเมื่อได้บอร์ด รฟท.ชุดใหม่แล้วจะยังคงเดินหน้าเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีได้ทันภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม CPH (ซีพี) พบว่ามีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่ม BSR ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน