นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบไตรมาส 4/2562 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ประกอบกับการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐเพิ่มขึ้นจากการเปิดท่อขนส่งน้ำมันในสหรัฐช่วงปลายปี ประกอบกับตัวเลขภาคเศรษฐกิจของสหรัฐเดือนก.ย. ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 47.8 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากปัญหาสงครามการค้า ขณะที่กำลังการผลิตจากซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นหลังจากสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 2562 และแนวโน้มราคาพลังงานว่าบริษัทเร่งลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (ซีเอฟพี) ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,834 ล้านเหรีญสหรัฐ เบื้องต้นแบ่งเป็นเงินลงทุนปีนี้ 1,280 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2563 ใช้เงินลงทุน 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 2 ปีกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการกระตุ้นการลงทุนตามนโยบายของภาครัฐ และทำให้เกิดการจ้างงานอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ ยังสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในระยะยาว จากการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นสร้างโอกาสการเป็นศูนย์กลางพลังงานของประชาคมอาเซียนในอนาคต ทั้งยังเป็นเครื่องมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มยอดขายได้ในอนาคต และยังเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบจากหลายแหล่งผลิต เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอากาศยาน ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศในระยะยาว โดยเป็นการเปลี่ยนน้ำมันเตา และยางมะตอยมูลค่าต่ำที่จะมีความต้องการลดลง ไปเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานที่มีมูลค่าสูงและมีความต้องการที่เติบโตมากขึ้นตามสภาวะอุตสาหกรรม

นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนค่าการกลั่นในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้และแนวโน้มถึงช่วงต้นปี 2563 บริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคขยายตัว รวมถึงการเข้าสู่ฤดูหนาว และฤดูการท่องเที่ยว ประกอบกับการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมการปล่อยกำมะถันของเรือเดินทะเล ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 นี้ จะส่งผลให้เรือต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำหรือน้ำมันดีเซลแทนน้ำมันเตากำมะถันสูง ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะดีเซลและค่าการกลั่นในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมีแผนที่จะเจรจากับกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อปรับโครงสร้างบริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) ที่เป็นบริษัทขนส่งทางเรือ ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม ปตท. ด้วย นอกจากจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางด้านธุรกิจโลจิสติกส์แล้ว ยังตอบสนองความต้องการของบริษัทในเครือ ปตท. ที่มีความต้องการใช้บริการขนส่งทางเรือเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เห็นได้จากที่ ปตท. เข้าร่วมประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ในพื้นที่อีอีซี หากมีการใช้บริการด้านโลจิสติกส์ของบริษัทในเครือก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน