กนง.เสียงแตกหั่นดอกเบี้ย 0.25% ต่ำสุดในประวัติการณ์เหลือ 1.25% ต่อปี หลังเศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่เข้าเป้า ส่งออก-บริโภคในประเทศหืดจับ มีการเลิกจ้างงาน เล็งรื้อประมาณการณ์ศก.ปีนี้ต่ำกว่าเดิม

กนง. หั่นดอกเบี้ย 0.25% – นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เหลือ 1.25% โดยให้มีผลทันที โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงจากสงครามการค้าส่งผลให้มีการเลิกจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ มีปัจจัยเสี่ยงต้องติดตาม

ทั้งนี้ คณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย ขณะที่คณะกรรมการอีก 2 ท่าน เห็นว่าภาวะปัจจุบันนโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจมากนัก และจำเป็นต้องรักษาความสามารถดำเนินนโยบาย (Policy Space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอ การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวตามรายได้ที่น้อยลงและการถูกเลิกจ้างงานในภาคการผลิตส่งออก รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การลงทุนภาคเอกชนก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า

“การปรับลดดอกเบี้ยลงมาที่ 1.25% ต่อปี ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ เทียบกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เนื่องจาก กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปยังต้องเผชิญความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะด้านต่างประเทศผลกระทบจากสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัจจัยภายในประเทศเรื่องการทุนภาครัฐและเอกชน ที่ กนง. ยังต้องติดตามใกล้ชิด”นายทิตนันทิ์ กล่าว

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อปี 2562 และ 2563 ที่แนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

นอกจากนี้ กนง. ยังเป็นห่วงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น คณะกรรมการฯ จึงสนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก ลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง. ได้ประเมินแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับที่ประเมินครั้งล่าสุดปีนี้ที่คาดว่าที่ 2.8% มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด ทั้งจากปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด การจ้างงานชะลอตัวเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่ำ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศของรัฐแล้วก็ตาม ทำให้การประชุมครั้งต่อไปในเดือน ธ.ค. จะต้องมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่

อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะต้องติดตามต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น ดอกเบี้ย MRR และ ดอกเบี้ย MOR ปรับตัวลดลงตาม แต่ดอกเบี้ย MLR ไม่ได้ปรับลง ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ จะส่งผลให้ MLR ลดลงหรือไม่ จะต้องติดตาม ส่วนเรื่อง Policy Space ธปท.พร้อมใช้เครื่องมือที่มีอยู่ ซึ่งยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้ Policy Space มีจำกัดมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน