หอการค้าเผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. ทรุดต่ำสุดในรอบ 65 เดือน เจอสารพัดปัจจัยลบรุม แนะรัฐบาลสปีดกระตุ้นเศรษฐกิจทันไตรมาส 4 หากไม่ทันกระทบจีดีพีหลุดเป้า

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดต่อ – นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนต.ค. 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 65 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2559 เป็นต้นมา จากระดับ 72.2 มาอยู่ที่ระดับ 70.7 ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 57.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 67.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 87.3 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก.ย.

แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่อง Brexit รวมถึงการที่สหรัฐ ประกาศตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ จำนวน 573 รายการ ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงละความผันผวนสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคตยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ลดลงไปอีก

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 57.9 ต่ำสุดรอบ 66 เดือน โอกาสในการหางานทำงานลดลงอยู่ที่ระดับ 67.0 ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน และรายได้ในอนาคตลดลงมาอยู่ที่ระดับ 87.3 ต่ำสุดในรอบ 66 เดือน

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลให้ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง”นายธนวรรธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์ฯ จะมีการจับตาดัชนีความเชื่อมั่นที่เหลือของปีในช่วงเดือนพ.ย.ถึงธ.ค.หากดัชนียังไม่สามารถปรับตัวได้จะส่งผลกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้ทรุดตัวลงอีก แต่หากรัฐบาลสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไเทัน อาทิ มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 เป็นการเติมเงินลงไปในระบบทำให้เศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 3.4-3.5% จะยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศทั้งปีขยายตัวได้ อยู่ที่ 2.8% ตามที่ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดการณ์ไว้ แต่หากดัชนีความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวจะส่งผลกับการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้าทำให้ขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.0-3.5%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน