ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง-รัฐสูญเสียรายได้ 2,700 ล้าน แต่ในภาพรวมจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน ปี 63 กว่า 39,420 ล้าน

ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.ลดภาษีที่ดิน – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงที่ต้องจัดทำตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ร่างกฎกระทรวงการงดหรือลดเบี้ยปรับ และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์

โดยการออกกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับนี้จะช่วยทำให้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายที่สมบูรณ์ขึ้น โดยเฉพาะการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นผู้เก็บภาษีสามารถนำไปปฏิบัติตามเกณฑ์ได้อย่างถูกต้อง

สำหรับสาระสำคัญของ ร่างพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากฐานภาษีตามมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 แยกเป็นการลดภาษีในอัตรา 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย เช่น ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาได้มาจากมรดกโดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับ ทรัพย์สินนั้นก่อนวันที่ 13 มี.ค.2562 และที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้ารวมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์ เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า

ขณะเดียวกันยังกำหนดลดภาษีในอัตรา 90% ครอบคลุมกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สถาบันการเงินประชาชน บริษัท บริหารสินทรัพย์ เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของหน่วยงาน, ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรเพื่ออยู่อาศัย หรืออุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน, ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุด เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันได้รับอนุญาตก่อสร้าง

รวมทั้งที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่ เกิน 3 ปี นับแต่วันได้รับอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ,ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษา, ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานบริการประชาชนทั่วไป เช่น ลานเล่นกีฬา สวนสัตว์ สวนสนุกที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยลดภาระของประชาชน ถึงแม้ อปท. ในฐานะผู้จัดเก็บภาษีจะสูญเสียรายได้ ประมาณ 2,700 ล้านบาท แต่ในภาพรวมจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 ประมาณ 39,420 ล้านบาท

ส่วนร่างกฎกระทรวงการงดหรือลดเบี้ย เป็นการงดเบี้ยปรับภาษีค้างชำระสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดหรืออายัด ตามกฎหมาย และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่าที่ดินหรือสิ่ง ปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของร่างกฎกระทรวงในการคำนวณมูลค่านั้น แยกเป็น กรณีที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทํา ประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้พนักงานประเมินเทียบเคียงราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินกับแปลง ที่ดินใกล้เคียงที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน หากเป็นที่ดินที่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินอื่น หรือที่ดินที่ไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้พนักงานประเมินใช้ราคาที่ดินตามบัญชี กําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินรายเขตปกครองกรมธนารักษ์หรือสํานักงานกรมธนารักษ์ พื้นที่จัดส่งให้เป็นฐานในการคํานวณภาษีของที่ดิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน