นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังกลับจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลกครั้งที่ 95 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความเป็นห่วงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในขณะที่ประชากรในประเทศไทย มีรายได้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหา ไม่เหมือนกับกรณีประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งแล้ว แต่รายได้ของประชากรค่อนข้างสูง โดยรัฐบาลก็รับข้อเสนอและพร้อมที่จะดำเนินการจริงจัง

ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเชีย ก็จะประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในช่วง 10 ปี แต่ประเทศเหล่านี้ ได้มีการเตรียมพร้อมให้ประชาชนมีรายได้ ทำให้ไม่มีปัญหาเหมือนอย่างประเทศไทย ซึ่งยอมรับว่าในจุดนี้ไทยยังเสียเปรียบอยู่

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในการหารือกับเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัวดีขึ้น แต่มีข้อสังเกตว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Community) ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะอยู่ในรอบที่ควรจะต้องมีทิศทางปรับขึ้นแล้ว ทำให้เห็นว่ายังมีแรงกดดันอยู่พอสมควร รวมถึงความไม่แน่นอนนโยบายเศรษฐกิจ และขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งหากมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น ก็เป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกต้องชะลอตัวลง

“ทุกคนเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มีสัญญาณที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยดีขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นผลกระทบกับไทยกรณีที่สหรัฐขึ้นบัญชีรายชื่อประเทศที่ขาดดุลการค้าและเตรียมออกมาตรการตอบโต้ เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในบัญชีของสหรัฐ”นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการทำผลสำรวจผลงานรัฐบาล โดยประชาชนยังไม่พอใจต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ว่า ไม่ได้มีความหนักใจในการทำงาน และทุกวันนี้ต้องถามกลับว่ายังทำไม่มากพออีกหรือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน