นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอันเกิดจากอุทกภัย และเพิ่มความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค ขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอข้อมูลแผนงานในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในวันพุธที่ 3 พ.ค. 2560

สำหรับการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างดังกล่าวนั้น ได้นำเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่โครงสร้างระบบชลประทานที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจำนวนมหาศาลได้ มาใช้เป็นโจทย์ในศึกษา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นพบว่า มีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมากเกินปริมาณน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะรองรับได้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ประมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที หากจะไม่ให้เหตุการณ์มหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีก จำเป็นจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำจำนวนดังกล่าว เพื่อระบายออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จะต้องดำเนินงานทั้งหมด 9 แผนงาน มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แผนงาน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แผนงาน และในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แผนงาน

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนที่จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มดำเนินการในฤดูฝนปี 2560 โดยใช้แผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ จ.ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน