ส่องภาคอุตสาหกรรมปี2563 ยานยนต์อาหารยังมาแรง

รายงานพิเศษ

ส่องภาคอุตสาหกรรมปี2563 : จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐจีน และปัญหาความรุนแรงระหว่างสหรัฐอิหร่าน รวมถึงการถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิต)

การแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยลดลงโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ประกอบกับการที่ไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซ้ำเติมให้การส่งออกของไทยราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวตาม

ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวด้วยการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา บางส่วนปรับลดการจ้างงานที่มีผลิตภาพและชั่วโมงการทำงานต่ำก่อน เพื่อลดภาระต้นทุน

ขณะที่สถานประกอบการบางแห่งไม่สามารถฝืนยืนอยู่ได้จนต้องปิดกิจการ

นอกจากนี้ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของไทยยังล่าช้า ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามแผน ทั้งยังทำให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาลมีข้อจำกัด การจับจ่ายใช้สอยในประเทศซบเซา การลงทุนภาคเอกชนก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

สะท้อนแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยปี 2563 ชะลอตัว อาทิ อุตสาหกรรมเหล็กชะลอตามความต้องการใช้เหล็กของโลก การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ แต่ยังมีโอกาสจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในตลาดต่างจังหวัดและการเติบโตของเมืองชายแดน

แนวโน้มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัว อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ความผันผวนของราคาน้ำมัน และยังเป็นผลจากกระแสการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ ในระยะข้างหน้ามีความกังวลต่อการปรับเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบของการผลิตรถยนต์

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัว อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ หากแนวโน้มค่าเงินบาทมีทิศทางที่ดีขึ้น รัฐมีมาตรการ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีกำลังซื้อเกิดการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมอาหารจากความต้องการบริโภคในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น เพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 และตลาดจีนที่เพิ่มคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ภาคเอกชนประเมินว่าองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) จะดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อจะยังรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำลงมากนัก

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่มองว่ายังมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงกลุ่มลูกค้าในจังหวัดรองหรืออำเภอย่อยๆ เป็นต้น

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อความอยู่รอด

1.ในระยะสั้นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ อันจะส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานในทุกจังหวัดด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเพื่อใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น

2.เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาทิ ผลักดันและเร่งรัดโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) นำคะแนนเครดิตมาใช้เพื่อให้สามารถคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามลำดับความเสี่ยงของเอสเอ็มอีให้มีการดำเนินการที่เร็วขึ้น

3.เร่งรัดการคืนภาษีเงินได้ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงกับบริการอิเล็กทรอนิกส์

4.ผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ของเอสเอ็มอี และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับเอสเอ็มอีในตลาดเป้าหมาย ส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีขายสินค้าเป็นเงินบาท

5.มีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง

6.มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งของขวัญปีใหม่มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ยกเว้นสินค้าบางประเภท อาทิ สุรา ยาสูบ

ระยะกลาง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เสนอรัฐต้องเร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ รวมทั้งการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถ

มาตรการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแรงงานนั้นต้องสร้างรากฐานปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ให้พร้อมขับเคลื่อนและรองรับการพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมแบบเข้มข้นในระยะสั้น เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม

ข้อมูลจากโครงการเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 พบว่าในปี 2563-67 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการแรงงานเพิ่มเป็น 2,249,581 ตำแหน่ง

ปี 2563 มีความต้องการแรงงาน 1,750,559 ตำแหน่ง เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 34,830 ตำแหน่ง อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 35,540 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 36,408 ตำแหน่ง การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 35,036 ตำแหน่ง แปรรูปอาหาร 34,994 ตำแหน่ง หุ่นยนต์ 35,015 ตำแหน่ง การบินและโลจิสติกส์ 35,045 ตำแหน่ง เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 35,134 ตำแหน่ง ดิจิตอล 34,982 ตำแหน่ง การแพทย์ครบวงจร 34,973 ตำแหน่ง

หากแยกตามระดับการศึกษาพบว่า จนถึงปี 2567 ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย (.6) ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ต้องการ 63,404 ตำแหน่ง อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 61,469 ตำแหน่ง การท่องเที่ยว 18,275 ตำแหน่ง การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 209,752 ตำแหน่ง แปรรูปอาหาร 97,867 ตำแหน่ง หุ่นยนต์ 0 ตำแหน่ง การบินและ โลจิสติกส์ 17,079 ตำแหน่ง เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 51,996 ตำแหน่ง ดิจิตอล 17,389 ตำแหน่ง การแพทย์ครบวงจร 17,715 ตำแหน่ง

ความต้องการแรงงานระดับการศึกษาวิชาชีพปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ต้องการ 115,498 ตำแหน่ง อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 29,576 ตำแหน่ง การท่องเที่ยว 125,643 ตำแหน่ง การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 8,673 ตำแหน่ง แปรรูปอาหาร 69,736 ตำแหน่ง หุ่นยนต์ 74,025 ตำแหน่ง การบินและโลจิสติกส์ 117,418 ตำแหน่ง เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 73,787 ตำแหน่ง ดิจิตอล 54,342 ตำแหน่ง การแพทย์ครบวงจร 66,434 ตำแหน่ง

ความต้องการแรงงานระดับอุดมศึกษาปี 2567 อุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่ต้องการ 56,807 ตำแหน่ง อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 150,198 ตำแหน่ง การท่องเที่ยว 84,524 ตำแหน่ง การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 9,814 ตำแหน่ง แปรรูปอาหาร 68,791 ตำแหน่ง หุ่นยนต์ 137,475 ตำแหน่ง การบินและโลจิสติกส์ 78,990 ตำแหน่ง เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 89,968 ตำแหน่ง ดิจิตอล 145,637 ตำแหน่ง การแพทย์ครบวงจร 137,297 ตำแหน่ง

รู้เช่นนี้แล้วว่าปี 2563 ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับอะไร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรรับมืออย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน