ปัจจัยลบยังตามหลอนส่งออกไทยปีนี้คาดหดตัว 0.9% ค่าเงินบาทแข็งโป๊กสูงสุดรอบ 6 ปี ส่วนจีดีพีไทยปี 2563 จะเติบโต 2.7-3.7%

ปัจจัยลบยังตามหลอนส่งออก – นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2563 ว่า ในปีนี้ คาดว่าไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 244,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ในช่วง 240,472 – 247,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัว 0.9% หรืออยู่ในช่วง 0.5% ถึง -2.4%

โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าการส่งออกของไทยในปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยลลบในระดับสูงคือ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และสงครามการเงิน รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า โดยพบว่าขณะนี้ เงินบาทยังแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% มูลค่าส่งออกจะลดลง 0.11% ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่า 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกลดลง 0.4% หรือลดลงประมาณ 29,381.4 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยลบในระดับปานกลาง คือเศรษฐกิจประเทศสหรัฐ จีน และญี่ปุ่นชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาภัยแล้ง ส่วนปัจจัยลบที่มีผลในระดับต่ำ คือ การตัดสิทธิประโยชน์ด้านภาษี (จีเอสพี) ไทยของสหรัฐ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ความตกลง United States – Mexico – Canada Agreement (USMCA) ที่เกิดขึ้นโดยเป็นข้อตกลงทางการค้าใหม่ที่สหรัฐ พยายามแก้ไขรายละเอียดการนำเข้าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มชาติสมาชิกอเมริกาเหนือ ทดแทนข้อตกลงทางการค้า North American Free Trade Agreement (NAFTA) ฉบับเดิม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม 3 ประเด็น คือ ความก้าวหน้าอาร์เซ็ป ความไม่แน่นอนของเบร็กซิต การเก็บภาษีรถยนต์ 25% ของสหรัฐ

นายอัทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการคาดการณ์อัตราขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2563 จะเติบโต 2.7-3.7% ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโต 3.4% ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนของไทยจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 จำนวน 5-6 บาท ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยอยู่ระหว่าง 313-336 บาท ถือว่าเป็นค่าจ้างรายวันสูงที่สุดในอาเซียน เป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ขณะที่ค่าจ้างรายวันมาเลเซียจะอยู่ที่ 278 บาทต่อวัน กัมพูชา 221 บาทต่อวัน และเวียดนาม 153-221 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าของผู้ส่งออกไทยและมูลค่าการส่งออกไทย โดยภาคเกษตรกรรมจะส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าว ข้าวโพด อ้อย และยางพารา ส่วนภาคอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซ่อมเรือ ปิโตรเลียม และเครื่องจักร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน