นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. อยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟสที่ 3 มูลค่า 32,000 ล้านบาท เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ จะเสนอแผนให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. พิจารณาอนุมัติในเดือนพ.ย. จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน 6 เดือน และเริ่มเปิดประมูลได้ในปี 2562 แล้วเสร็จในปี 2565

นายเพ็ชรกล่าวถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองว่า จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผนพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะแบ่งออเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่เขตการบิน (Airside) เช่น การก่อสร้างหลุมจอด 12 หลุมทางทิศเหนือ ทางขับ 2 จุด ปรับปรุงหลุมจอดให้เหมาะสมกับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) และแผนพัฒนาพื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) เช่น การก่อสร้างอาคารองรับผู้โดยสารพิเศษ, อาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมือง อาคารจอดรถพนักงาน, อาคารเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงและท่าอากาศยานดอนเมือง (Junction Building) และปรับปรุงอาการในประเทศเดิม เป็นต้น

ส่วนที่ 2 แผนพัฒนาระบบขนส่ง คือการติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) หรือรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบิน ซึ่งเร่งแยกออกมาดำเนินการก่อน เพราะท่าอากาศยาดอนเมืองมีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก เบื้องต้นระบบ APM จะมีทั้งหมด 5 สถานี เชื่อมต่อตั้งแต่ทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองไปถึงทิศใต้ แต่ยังไม่สามารถสรุปวงเงินลงทุนได้

นายเพ็ชรกล่าวต่อว่า สำหรับอาคารเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงและท่าอากาศยานดอนเมือง (Junction Building) นั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะมีพื้นที่ประมาณ 100,000 ตารางเมตร ซึ่งจะนำพื้นที่มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งหมด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสนามบิน ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เร่งเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ที่ไม่ใช่รายได้ด้านการบินมากขึ้น โดย ทดม. ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้เชิงพาณิชย์ จากปัจจุบัน 40% เป็น 50%

สำหรับพื้นที่ภายในอาคารเชื่อมต่อรถไฟฟ้านั้นเชิงเบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน พัฒนาเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมของผู้โดยสาร เช่น ร้านค้า โรงแรมในท่าอากาศยาน ห้างสรรพสินค้า ภัตตคาร เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน