นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ขออำนาจคณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และภาครัฐได้กำหนดมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า จากมาตรการของรัฐบาลที่นำเสนอ ยังไม่เพียงพอให้ผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถอยู่รอดได้ การเลื่อนกำหนดเวลาการจ่ายหนี้ออกไป แม้ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มเล็กน้อย แต่ยังไม่เพียงพอกับต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไป หากเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ สรท. จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศออกมาช่วยได้น้อยมาก หากเทียบกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ในฐานะตัวแทนผู้ส่งออกไทย ได้จัดทำข้อเสนอแนะรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคการส่งออกไทย เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและมาตรการรับมือต่อเหตุฉุกเฉินและการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อภาคส่งออกไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป โดยข้อเสนอแนะที่จัดทำขึ้น ได้พิจารณาทั้งในส่วนของระดับความสำคัญ (สูง/กลาง/ต่ำ) ระยะเวลาการใช้มาตรการที่รองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมด้านการเงิน ด้านแรงงาน ด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ด้านการตลาด และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการลงทุนและสินเชื่อเพื่อการส่งออก ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ขอให้กระทรวงการคลัง “จัดสรรเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการกู้/ค้ำประกัน” เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม “ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินปันผลหรือรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ ที่นำกลับมาจากต่างประเทศ” เป็นการถาวร

“ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต น้ำมัน และน้ำผลไม้ 100% ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ” เพื่อลดต้นทุนการประกอบธุรกิจและค่าใช้จ่ายของประชาชน “ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทุกประเภท” และ “ขอให้คืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเรียกเก็บเกินไว้เกินย้อนหลัง 5 ปี “ลดอัตราการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 5%” และ “ให้เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณียื่นเป็นเอกสารเหลือ 30 วัน “เลื่อนกำหนดการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562 เป็นเดือนส.ค. 2563” และ “ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs เหลือไม่เกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่น เหลือไม่เกิน 20% “เลื่อนกำหนดการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2562 เป็นเดือนส.ค. 2563” และ “ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2562-2563 สำหรับผู้มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี” เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูกิจการ และเพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสภาพคล่องและมีเงินหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้ามากขึ้น 27,500 บาทต่อปี”
เป็นต้น

ด้านแรงงาน ผลกระทบจากโควิด-19 และในกรณีที่รัฐสั่งให้หยุดเป็นการชั่วคราว ขอให้กองทุนประกันสังคม “จ่ายค่าแรง 75% ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ให้กับแรงงานแทนผู้ประกอบการ” เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ภายหลังวิกฤตขอให้กระทรวงแรงงาน “ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง เหลือ 1%” ขอให้กองทุนประกันสังคม “จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้กับแรงงานแทนสถานประกอบการที่ปิดกิจการเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ดังกล่าว พิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศและทั่วโลก ณ วันที่ 22 มี.ค. 2563 ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังนั้น หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จำเป็นต้องมีการปรับปรุงนโยบายหรือมาตรการให้เข้มข้นหรือผ่อนคลายให้เหมาะสมต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน