นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มองว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาขณะนี้ถือว่าเพียงพอ และธุรกิจทุกประเภทจะต้องปรับตัวอาจจะมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์แม้ว่าจะมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอาจมีการเลย์ออฟพนักงานแต่ภาครัฐก็มีหนทางช่วยเหลือและเยียวยาให้ แต่บางธุรกิจก็จะได้รับอานิสงส์ในทางบวกเช่น ธุรกิจอาหารธุรกิจเดลิเวอรี่
ส่วนของสมาชิกของหอการค้าไทยก็ได้ปรับตัวในการประกอบธุรกิจอย่างมากเช่นธุรกิจโรงแรมก็หันมาให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้นเช่นการเปิดให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าพักฟรีหรือในราคาพิเศษ และในวันที่ 26 มี.ค.นี้ จะมีการเปิดตัวโครงการ Amazing distancing at hotel ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าไทยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่สะดวกจะทำงานที่บ้านหรือเวิร์กฟอร์มโฮม ก็สามารถมาใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่โรงแรมได้ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ธุรกิจบริการหรือโรงแรมที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 กลับมาคือคักอีกครั้ง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมบางส่วนยังหันมาให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการกักตัวในกรณีที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ โดยเปิดให้ผู้ที่ต้องการกักตัวเข้าพักเป็นเวลา 14 วันในห้องพักในราคาพิเศษเพื่อดูอาการ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการในสถานการณ์การระบาดของไวรัส นอกจากนี้ ในส่วนของสมาชิกของสภาหอการค้าไทยที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศยังได้ปรับตัวด้วยการทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อแนะนำร้านอาหารที่สามารถเดลิเวอรี่ส่งให้กับลูกค้าในจังหวัดนั้นนั้น เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคทำให้ร้านอาหารในส่วนที่นั่งรับประทานถูกปิดไปดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวด้วยการเดลิเวอรี่อาหารไปยังผู้บริโภคถึงบ้านซึ่งตนเองมองว่าทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกันและปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกึงกรณีที่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นการสกัดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้นั้นเอกชนมองว่าเป็นเป็นเรื่องที่ดีและควรดำเนินการเพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าประกาศที่ออกมาจะยังไม่มีรายละเอียด แต่ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ ซึ่งคิดว่ารัฐบาลน่าจะเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หากจะออกข้อปฎิบัติสำหรับประชาชน แต่ทั้งนี้ ต้องดูในกลุ่มของผู้ที่มีความจำเป็นต้องทำงาน เช่น กลุ่มผู้ส่งอาหารไม่ว่าจะเป็นแกร็บฟู้ด แพรนด้า เป็นต้น หรือกลุ่มคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการผลิตอาหารให้กับประชาชนในช่วงนี้เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ามีอาหารเพียงพอ รวมไปถึงเรื่องการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทางไปยังหลายทาง การกระจายสินค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มคนดังกล่างจะต้องเป็นข้อยกเว้นหากจะออกประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ แต่มั่นใจว่ารัฐบาลคงมีวิธีการที่ชัดเจน
ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ในวันที่ 25 มี.ค. ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมนั้น เบื้องต้นน่าจะมีการหารือในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในประเด็นของอาหารซึ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ว่ากำลังการผลิตมีเพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศและการส่งออกซึ่งขณะนี้ระบบการขนส่งของไทยยังสามารถใช้การได้ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ แม้ว่าจะมีการปิดด่านชายแดนเพื่อความปลอดภัย แต่เชื่อว่าจะคลี่คลายในระยะอันใกล้นี้