ทิสโก้หั่นจีดีพีไทยติดลบหนักมาก 6.9% จากปัจจัยลบท่องเที่ยวน้ำมันภัยแล้ง-ชี้ตลาดหุ้นพ้นภาวะขาลงแล้ว

ทิสโก้หั่นจีดีพีไทยติดลบ – นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 ลงเหลือ -6.9% จากเดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 0.8% โดยประมาณการดังกล่าว อิง 3 สมมติฐาน ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือเหลือ 12 ล้านคน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิมที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และภัยแล้งมีความรุนแรงยืดเยื้อจนถึงเดือนก.ย. จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่เดือนพ.ค. ทำให้คาดว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะกลายเป็น 0.7% ของ จีดีพี จากเดิมคาดไว้ที่ 0.2%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในด้านต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 แย่ลงมากอย่างมีนัยยะและมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งหากภัยแล้งลากยาวถึงสิ้นปี ดังนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 0.5% โดยการประชุมคณะกรรมการครั้งล่าสุดยังเสียงแตกและคำแถลงการณ์ยังระบุว่า พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการทางการเงินอื่นๆ ที่เหมาะสมและทันการณ์ ในขณะเดียวกัน เงินบาทจะถูกกดดันเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เปราะบาง รวมถึงความวุ่นวายทางการเมืองที่น่าจะกลับมาหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง

ขณะเดียวยังคาดหวังการตอบสนองของนโยบาการคลังที่มากขึ้น โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัส (ระยะที่ 1 และ 2) มีเม็ดเงินราว 2% ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 9% ดังนั้น จึงสนับสนุนให้รัฐบาลใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ทั้งหมด เช่น พ.ร.ก. กู้เงิน เพื่อที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีพื้นที่สำหรับกู้เงินเพิ่มเติมราว 2.42 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน และยังอยู่ภายใต้เกณฑ์กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

นอกจากนี้ เงินที่พร้อมสำหรับการเบิกจ่ายในมือของรัฐบาลอย่างงบประมาณ FY2020 จำเป็นจะต้องถูกเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว โดยที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนไว้สูงมากที่ 100% ในปีงบประมาณนี้ (แม้ว่างบประมาณจะล่าช้ากว่าปกติไปเกือบ 5 เดือน) ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้า (ในอดีตช่วงที่สถานการณ์ปกติรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 70% เท่านั้น) จะช่วยลดความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทย และอาจช่วยให้เศรษฐกิจไม่แย่เท่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยหดตัว -7.6%

ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับมุมมองตลาดหุ้นเดือนเม.ย. คาดว่าหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวชั่วคราวจากอานิสงส์การผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบเต็มที่ของธนาคารสำคัญของโลก ทั้งการลดดอกเบี้ยลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาล เพื่อพยุงเศรษฐกิจและลดความปั่นป่วนในตลาดการเงิน นอกจากนี้ รัฐบาลในหลายประเทศยังทยอยออกมาตรการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย โดยมองเป้าดัชนีหุ้นไทยในรอบนี้น่าจะฟื้นตัวจำกัดที่บริเวณ 1,140-1,200 จุด อิงมาจากปัจจัยทางเทคนิคที่เคยเป็นโซนจุดต่ำและจุดสูงหลายครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมองว่าหุ้นไทยมีโอกาสจะฟื้นตัวได้ แต่ต้องยอมรับว่าความผันผวนก็ยังสูงอยู่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง

สำหรับคำแนะนำการลงทุนยังคงกลยุทธ์การทยอยสะสมหุ้นแบบแบ่งซื้อในช่วงตลาดผันผวน แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงตลาดดีดกลับ (รีบาวด์) ก็ควรขายออกเพื่อล็อกกำไรไว้บ้าง และรอย่อตัวเพื่อซื้อกลับ โดยหุ้นแนะนำในเดือนเม.ย. BAM, BJC, DTAC, PTTEP, RBF, SCC และ TVO ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,070 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,010-1,020 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,165-1,170 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,190 จุด

นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า แม้ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ แต่ก็มีลุ้นมากขึ้นว่าดัชนีหุ้นไทยอาจผ่านจุดต่ำสุดของภาวะหมี (ตลาดขาลง) รอบนี้ไปแล้วที่บริเวณ 970 จุด หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) ที่ 1.1-1.2 เท่า ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงเส้นแนวโน้ม P/BV ระยะยาวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ที่บริเวณ 0.5-0.6 เท่า และ 0.8-0.9 เท่า ตามลำดับ ผสานกับหุ้นไทยมีตัวช่วยเข้ามาพยุงตลาดมากขึ้น เช่น การประกาศซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน ที่นับตั้งแต่ต้นปีนี้มีวงเงินซื้อคืนรวมมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์, กองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) แบบพิเศษที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินทยอยไหลเข้าตลาดประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.-มิ.ย.) และประเด็นสุดท้ายคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมความผันผวนของตลาด เช่น การปรับเกณฑ์การซื้อขายต่างๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน