นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า วันที่ 13 เม.ย.นี้ ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประชุมร่วมกัน โดย สศช. จะทำหน้าที่เป็นประธาน เพื่อรวบรวมข้อมูลและรับฟังปัญหาจากภาคเอกชนในสถานการณ์โควิด-19 ว่าหลังจากการควบคุมจนสามารถการแพร่ระบาดลดน้อยลงแล้วจะสามารถเปิดให้บริการธุรกิจประเภทใดได้บ้างในเดือนพ.ค.นี้ และจะต้องมีมาตรการดำเนินการอย่างอย่างไร ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสศช.จะเป็นผู้รวบรวม เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ ไปเสนอภาครัฐ โดยเชื่อว่าจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน รวมถึงหากประชาชนทั้งประเทศให้การร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลน่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงได้
“หลังจากการระบาดของโควิด-19 ภาคเอกชนพยายามรักษาสมดุลระหว่างการพยุงเศรษฐกิจให้สามารถเดินต่อไปได้ กับการหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยการไม่หยุดการผลิตในโรงงาน แต่ก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลด้วยการรักษาระยะห่างของพนักงานผู้ปฎิบีติงาน และเมื่อเห็นว่าตัวเลขการติดลดลงก็จะเสนอให้ภาคธุรกิจบางอย่างกลับมาเปิดให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) อยู่ได้”นายกลินท์ กล่าว
นายกลินท์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับคำยืนยันจากผู้ประกอบการายใหญ่ เช่น กลุ่มซีพี ห้างเซ็นทรัล หรือกลุ่มเอสซีจี และอีกหลายกลุ่มที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย ต่างยืนยันว่าจะไม่ปรับลดพนักงานหรือเอาพนักงานออก (เลย์ออฟ) แต่อย่างใด แม้สถานการณ์โควิด-19 จะลากยาวไปถึงปลายปี เพราะขณะนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการทั้งระบบได้เตรียมมาตรการรองรับการดูแลพนักงานต่างๆ อย่างดี และที่สำคัญเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติการเปิดให้บริการของห้างสรรพสินค้าต่างๆ เดือนพ.ค. เป็นต้นไป จากการที่ฟังข้อเสนอของกลุ่มห้างเซ็นทรัลและห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่ละห้างมีมาตรการดูแลไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งที่ผ่านมาห้างสรรพสินค้าไม่ใช่เป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโรค แต่ยอมรับว่าหลังจากนี้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าต่างๆ จะใช้มาตรการดูแลสุขอนามัยทั้งบุคลากรและพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 น้อยลง ดังนั้น วันที่ 13 เม.ย.นี้ แต่ละกลุ่มจะเตรียมนำข้อเสนอ เพื่อให้ สศช. รับไปดำเนินการเต็มที่
นายรุ่งโรจน์ รังสิ โยภาส นั่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า เอสซีจี มีความพร้อมในการรับมือกับการเกิดโรคระบาด มีความตั้งใจที่จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ และบริษัทมีความแข็งแกร่งมากพอ จึงไม่มีแผนที่จะเลิกจ้าแต่อย่างใด นอกจากนี้ ได้ส่งมอบห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบ และห้องตรวจเชื้อความดันลบ หรือบวกแบบเคลื่อนที่ให้กับโรงพยาบาลจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลที่ได้รับบริจาคมาจากประชาชนทั่วไป ไปยังเครือข่าย มูลนิธิ และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงาน ได้มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง (TCP) กล่าวยืนยันว่า บริษัทยังทำงานไม่ปลดพนักงานและจะเดินหน้าสนับสนุนการปฎิบัติงานของแพทย์ พยาบาลเต็มที่ โดยได้จัดหาเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มูลค่า 15 ล้านบาท เครื่องแรกให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถรับรองการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึงวันละ 1,440 ราย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทขนาดใหญ่จะพยายามพยุงธุรกิจให้ไปจนถึงปลายปี แต่ยอมรับว่าหนักมาก เพราะหลายอุตสาหกรรมไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งก็อาจจะกระทบไปถึงการส่งออกของไทยที่ปีนี้อาจติดลบ 8-10% แต่ประเด็นสำคัญคือ ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยเฉพาะภาคบริการที่กระทบหนักมากทำให้มีการเสนอแนวทางในวันที่ 13 เม.ย.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 น่าจะยืดเยื้อ ไม่น่าจบง่ายๆ เรื่องเศรษฐกิจต้องฟื้นฟู ซึ่งเอกชนพร้อมจะทำตามนโยบายของภาครัฐ
นายประวิช สุขุม ผู้อำนวยการสำนัก สื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไม่มีนโยบายเลย์ออฟ และที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญกับการดูแลด้านความปลอดภัยของพนักงาน เน้นให้ทำงานจากบ้าน ยืนยันด้านการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคให้เพียงพอและจะประคองธุรกิจให้อยู่รอดแม้จะเป็นเรื่องยาก รวมทั้งสนับสนุนการปฎิบัติงานของแพทย์ ตามโรงพยาบาลต่างๆ ด้วยการมอบแอลกอฮอลล์กว่า 5 แสนลิตร เพื่อสนับสนุนการดูแลควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนในองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า บริษัทยืนยันจะไม่เลย์ออฟพนักงาน และหวังว่าทุกประเทศทั่วโลกสถานการณ์จะดีขึ้น แม้จะลากยาวไปถึงสิ้นปี และยืนยันว่า ในฐานะเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภคบริษัทจะผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ จะไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างเด็ดขาด โดยที่ผ่านมาบริษัทได้สนับสนุนมาตรการกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ส่งอาหารไปให้คนที่กักตัวส่งไป 16,000 คน รับพนักงานเพิ่มกว่า 2 หมื่นคน เพื่อรองรับในการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น รวมมทั้ง ก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อลดความขาดแคลน โดยจะผลิตออกมาได้วันละ 3 ล้านชิ้น
น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลฯ ไม่มีแผนจะเลย์ออฟพนักงาน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกมาโดยตลอดในเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มพนักงานทุกระดับ ทุกแผนก ทำประกันชีวิตให้ทุกคน เน้นการทำงานจากที่บ้านในส่วนของการบริการลูกค้าก็เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย จัดส่ง สินค้า ให้ได้รับความสะดวก รักษาระยะห่างทางสังคมไปพร้อมกัน ส่วนผู้เช่าพื้นที่ที่ต้องหยุดขายบริษัทก็งดค่าเช่าให้ ส่วนร้านที่เปิดให้บริการก็ลดค่าเช่าให้ รวมทั้งทางโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลเวิลด์ ได้ให้ที่พักหมอของโรงพยาบาลตำรวจ, ขณะที่ห้างเซ็นทรัลก็ช่วยเกษตรกรนำสินค้ามาวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ และร่วมบริจาค เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขกว่า 40 ล้านบาท เป็นต้น