น้ำมัน วันที่ 21 เม.ย. นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากเป็นราคาส่งมอบของเดือนพ.ค.นี้ ที่ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่ถือสัญญาซื้อขายน้ำมันดังกล่าว ซึ่งก็คือกองทุนเก็งกำไรหรือกลุ่มผู้ค้าน้ำมันตลาดโลกต้องจำใจเทขายออกมา เพราะถ้าไม่ขายออกมาก็ต้องแบกรับภาระสต็อกน้ำมันดิบที่ถือไว้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ค้าน้ำมันรายอื่นในตลาดโลก
โดยยอมรับว่าสาเหตุที่ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสต้องเผชิญวิกฤตราคาตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันในโลกลดลงต่อเนื่องในทุกประเทศ เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิด-19
“การที่กองทุนเก็งกำไรน้ำมันเทขายน้ำมันเวสต์เท็กซัสออกมาในราคาติดลบ 37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเท่ากับว่าต้องแถมเงินให้กับลูกค้าอีก 37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวคือวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.เป็นต้นไปราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของราคาน้ำมันดิบสำหรับส่งมอบในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ทำให้ราคาเวสต์เท็กซัสดีดตัวกลับไปที่ระดับ 20 เหรียญสหรับต่อบาร์เรล”
นายมนูญ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวเป็นสัญญานบ่งชี้ว่าตลาดน้ำมันโลกอยู่ในภาวะปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล้นโลก และหากไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อจะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ต่อไปอีกหลายเดือน โดยล่าสุดทุกประเทศทั่วโลกใช้น้ำมันรวมกันวันละ 70 ล้านบาร์เรล ขณะที่กำลังการผลิตจากโอเปกและนอกโอเปกมีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 80-90 ล้านบาร์เรล
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดยังกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัว หลังรัฐบาลหลายประเทศประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐและประเทศในทวีปยุโรปยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ประเทศซาอุดิอาระเบียงยังประกาศลดราคาขายน้ำมันลงต่อเนื่อง ประกอบกับประกาศว่าจะเริ่มลดกำลังการผลิตในเดือน พ.ค.2563 ส่งผลให้อาจมีอุปทานน้ำมันดิบในระดับสูงจากซาอุฯ ที่จะเข้ามาในตลาดช่วงเดือนดังกล่าว
“ยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก จนทำให้มีการปิดเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้และราคาน้ำมันโลก โดยมุมมองของนักลงทุนในตลาประเมินว่าแม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก) และพันธมิตรจะร่วมกันลดปริมาณการผลิตในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2563 แต่อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยอุปสงค์ที่หายไปได้”
นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกช่วงวันที่ 13-19 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา พบว่าราคาน้ำมันตลาดโลกยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี และรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และตลาดเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 4.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล