ประกันสังคมใช้งบ 1.6 แสนล้าน จ่าย เยียวยาผู้ประกันตน ข้อมูลถูกต้องเงินเข้าใน 3 วัน จี้นายจ้างลงทะเบียนยืนยันลูกจ้างอีก 4 แสนราย

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผย ถึงการดำเนินงานจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจาก เหตุสุดวิสัยให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า สปส.ได้ทยอยโอนเงินเข้าบัญชีให้กับผู้ประกันตนซึ่งเป็นกลุ่มแรก ที่ได้รับการอนุมัติและรับเงินงวดแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา

โดยข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย.63 มีผู้ประกันตน มาตรา 33 ยื่นความประสงค์ขอรับประโยชน์ทดแทนฯ แล้ว จำนวนกว่า 1,200,000 ราย ขณะนี้สปส.ได้เร่งดำเนินการจ่ายเงินกรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตน โดยจะทยอยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนให้เร็วที่สุด

“ทั้งนี้ลูกจ้างที่ได้ขึ้นทะเบียนว่างงานผ่าน e-form แล้ว ขอให้นายจ้างกรอกรับรองการหยุดงานของลูกจ้างเนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ผ่าน e-form ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th เช่นกันเมื่อลูกจ้าง และนายจ้าง กรอกข้อมูลผ่าน e-form แล้ว ระบบจะประมวลผลจับคู่ความถูกต้องของข้อมูล แล้วส่งให้หน่วยปฏิบัติวินิจฉัยจ่ายเงินว่างงานโดยระบบจะตัดจ่ายเงิน และโอนเงิน เข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ภายใน 3 วันทำการ” โฆษก สปส.กล่าว

นางพิศมัย กล่าวว่า ในส่วนของคำถามในเรื่องของการจ่ายเงินกรณีว่างงานมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมหรือไม่นั้น ขอเรียนว่า ปัจจุบันสปส.มีเงินลงทุน ในกองทุนกรณีว่างงานกว่า 160,000 ล้านบาท โดยมีการลงทุนระยะสั้นเพื่อสำรองสภาพคล่อง สำหรับจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว และอีกส่วนหนึ่งยังอยู่ในการลงทุนระยะยาว เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและสะสมเงินลงทุนไว้ให้เพียงพอในการจ่ายสิทธิประโยชน์ต่อไป

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีนายจ้าง/สถานประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ไปลงทะเบียน ทำให้สปส.ไม่สามารถจ่ายเงินให้ลูกจ้างอีกประมาณ 4 แสนคน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ จึงขอให้นายจ้างเร่งดำเนินการยืนยันข้อมูลในส่วนนี้กับ สปส.” โฆษก สปส.กล่าว

นางพิศมัย กล่าวว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ยืดเยื้อมั่นใจว่าสปส. สามารถจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนได้เสร็จสิ้นถึงเดือนสิงหาคมนี้แน่นอน สปส.มีความมุ่งมั่นในการบริหารกองทุน และสร้างผลตอบแทนสะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่กองทุนประกันสังคม สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

โดยดำเนินการลงทุน อย่างรอบคอบภายใต้ระเบียบคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์กองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 และภายใต้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน และคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง กองทุนประกันสังคมที่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการลงทุน

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตน และนายจ้าง มั่นใจว่าสปส. จะระมัดระวังในการบริหารจัดการกองทุน วางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อความมั่นใจ ทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย ล่าสุดสปส.ยื่นเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน