ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรดไตรมาสแรกปี’63 ร่วงต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส ผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 เอกชน ร้องขอเปิดบริการหลังพบสินค้าคงคลังมีแนวโน้มมากขึ้น ส่งผลต่อซัพพลายเชน การจ้างงานในอนาคต

ความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรดร่วง – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ประจำไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งเป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 105 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23 มี.ค-17 เม.ย. 2563 ว่า สำหรับปัจจัยลบหลักๆ ของการประกอบธุรกิจโมเดิร์นเทรดคือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรการยกเลิกวีซ่า 18 ประเทศ ยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราว สถานการณ์ภัยแล้ง ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 การส่งออกที่ส่งสัญญาณหดตัว ราคาสินค้าเกษตรคงที่ในระดับไม่สูง เป็นต้น จากปัจจัยลบดังกล่าวส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการไตรมาส 1/2563 ที่ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 ทุกรายการนับตั้งแต่มีการสำรวจจากไตรมาส 3/2561 หรือต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส โดยค่าดัชนีโดยรวมอยู่ที่ 47.2 ดัชนีในปัจจุบันอยู่ที่ 49.0 และดัชนีอนาคตอยู่ที่ 45.5

“จากการสำรวจพบว่าในช่วงไตรมาส 2 ผู้ประกอบการตอบว่ามีสินค้าคงเหลือจากการขายมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงมีการเสนอว่าต้องเปิดให้บริการอีกครั้ง ซึ่งหากเปิดได้ก็จะช่วยให้ซัพพลายเชนกลับมาทำงานได้ตามปกติเกิดการจ้างงาน ส่วนการขายออนไลน์ของกลุ่มโมเดิร์นเทรดในไตรมาสแรกขยายตัวจากปีก่อนถึง 73% และไตรมาส 2 ก็ขยายตัวถึง 89% แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีการปรับตัวอย่างชัดเจนและผู้บริโภคเองก็ปรับตัวเช่นดียวกัน”นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการก็ยังไม่ทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลมีคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และธุรกิจบางประเภท การขาดสภาพคล่อง เจอปัญหาผู้ค้าออนไลน์เถื่อนจำหน่ายสินค้าตัดราคา กำลังซื้อหดตัว โดยหอการค้าไทยประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจโดยรวมต้นปี อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท โดยไตรมาสแรกคาดว่าประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ได้เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มาตรการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การกระตุ้นการบริโภค เร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระยะเวลา 1 เดือนห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีการปรับกลยุทธ์ วิธีการทำธุรกิจและสมาชิกของกลุ่มค้าปลีกไม่มีการปลดพนักงานยังดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ และทำตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะยอดขายลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันธุรกิจค้าออนไลน์ ธุรกิจเดลิเวอรี่ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเติบโตขึ้นถึง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมองว่ารูปแบบการจับจ่ายซื้อสินค้าของประชาชนน่าจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากผ่านการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไป

ซึ่งทางหอการค้าก็มองว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะต้องศึกษาแนวทางในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ทางหอการค้าเห็นว่าเป็นหนทางในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก็คือการเปิดให้บริการภาคธุรกิจค้าปลีกนอกเหนือจากในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต หรือโซนอาหาร ภายใต้การควบคุมโดยหอการค้าได้เสนอแนวทางในการควบคุมการระบาดของไวรัส-19 อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมองว่าสินค้าบางประเภทมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น วัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซมบ้าน สำหรับสนุนเงินทุนหมุนวียนดอกเบี้ยแบบซอฟต์โลนให้กับผู้ค้ารายย่อยเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่มีมาตรการให้ไปก่อนหน้านี้ เร่งมาตรการให้มีการจ้างแรงงานแบบรายชั่วโมง และเร่งเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อควบบคุมการระบาดของไวรัสจากนักท่องเที่ยว เพื่อเตรียมตัวเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาไทยในช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งลดภาษีต่างๆ เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีสิ่งปลูกสร้าง และแม้ว่าภาคค้าปลีกจะได้รับผลกระทบแต่ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เพราะเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญกับประชาชน และการเปิดให้จำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกนั้นก็มองว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและส่งผลดีต่อประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ การเปิดโมเดิร์นเทรดจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ลดการเลิกจ้างงาน ส่งผลดีต่อทางจิตวิทยาซึ่งทางผู้ประกอบการจะเข้มงวดเพื่อป้องกันการระบาดของโรคและให้ความร่วมมือกับภาครัฐ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าหลังจากที่เปิดให้บริการแล้วพบว่ามีการระบาดของไวรัสเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็พร้อมจะทบทวนและปิดให้บริการอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน