พิษโควิดฉุดเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเม.ย.ร่วงมาอยู่ที่ 47.2 ลดลงต่อเนื่อง ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 22 ปี คาดปลดล็อกธุรกิจจะหยุดการทรุดตัวของเศรษฐกิจได้

พิษโควิดฉุดความเชื่อมั่น – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเม.ย. 2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงทุกรายงานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 259 เดือนหรือ 21 ปี 7 เดือนนับตั้งแต่ เดือนต.ค. 2542 เป็นต้นมา จากระดับ 50.3 เป็น 47.2 โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 39.2 ลดลงจากเดือนมี.ค. 2563 ที่อยู่ในระดับ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค. ที่อยู่ในระดับ 49.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.4 ลดลงจากเดือนมี.ค. ที่อยู่ในระดับ 59.9

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติที่ระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เนื่องจากการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นแต่ละรายการปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งยังซ้ำเติมต่อภาคเกษตรกรรมของไทยในหลายพื้นที่ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวในระดับต่ำ ก็ยิ่งเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โดยพบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันลดลงจากระดับ 33.6 ในเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ 31.5 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 251 เดือนหรือ 20 ปี 11 เดือน ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2542 เป็นต้นมา แสดงว่าภาวะ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต หรือ 6 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวลงอย่างมากเช่นกัน โดยลดลงจากระดับ 58.2 มาอยู่ที่ระดับ 54.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการสำรวจ 21 ปี 7 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

จากผลสำรวจดังกล่าว ก็คาดว่า ผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้ไป จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลายตัวลงและมีการเปิดกิจกรรมทาง เศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นธรรม

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึง การที่รัฐบาลอนุญาตให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการ (รีสตาร์ต)ว่า ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นต่อการหางานทำของประชาชน เพราะผลการสำรวจค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนห่วงเรื่องการตกงาน และโอกาสหางานทำ การที่ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการก็เท่ากับว่าทำให้คนยังมีงานทำมีรายได้ และการที่ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเนื่องกว่า 4 แสนล้านบาท มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ไดรับผลกระทบรายละ 5 พันบาท เป็นต้น ก็ทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ติดลบ 3.5 ถึงติดลบ 5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 8.8% ในกรณีที่ไม่มีมาตรการกระตุ้น โดยสัญญาณของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 แม้จะยังติดลบ แต่กลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4

“การคลายล็อกดาวน์รอบแรกจะทำให้เม็ดเงินหมุนกลับมาในประเทศประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6-9 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ขณะที่การคลายล็อกดาวน์รอบ 2 ในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ จะทำให้มีเงินเติมเข้ามาในระบบอีก 6-8 พันล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นจึงเห็นว่าการที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้จำเป็นต้องกลับมารีสตาร์ตธุรกิจภายใต้เงื่อนไขของการลดการแพร่ระบาดของโรคเพราะในสถานการณ์ปกติการจับจ่ายใช้สอยในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่พอมีการล็อกดาวน์และกังวลสถานการณ์โควิด เงินหายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อวันจากการชะลอการท่องเที่ยวภายในประเทศ ชะลอการซื้อสินค้าทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย”นายธนวรรธน์ กล่าว

รวมทั้ง หากมีการยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินได้ในช่วงเดือน ก.ค 2563 ก็น่าจะทำให้คนไทยเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทั้งการสัมมนา ประชุม การแต่ต้องดำเนินการในกรอบที่เหมาะสมกับการรักษาระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing จะทำให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปดูแลภาคการท่องเที่ยวและภาคการโรงแรมในต่างจังหวัด สำหรับแนวโน้มการปลดล็อกให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศน่าจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาส 3 และถ้าสถานการณ์ของการปลอดเชื้อโควิด-19 ในเอเชียและทั้งโลกดีขึ้น คาดว่าไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเริ่มกลับมา 6 ล้านคน หรือเดือนละประมาณ 2 ล้านคนขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐ น่าจะช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้นกลับขึ้นมาเร็วขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน