เมื่อวันที่ 13 พ.ค. น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน และข้อคิดเห็นเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางให้ความช่วยเหลือต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งในภูมิภาคและส่วนกลาง ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรู้สึกดีใจที่นายกรัฐมนตรีสนใจและมีความตั้งใจช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งคำถามมา 3 ข้อคือ อะไรคือปัญหาหนักที่สุดของเอสเอ็มอีในขณะนี้ เอสเอ็มอี อยากให้ช่วยเหลืออะไรเร่งด่วนที่สุด 3 ข้อ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาให้ความช่วยเหลืออยู่แล้วนั้นแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ มีอะไรต้องปรับปรุง

โดยทางสมาพันธ์ฯ ได้รายงานปัญหาและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อที่ประชุมอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะมาตรการด้านสาธารณสุขของภาครัฐที่ป้องกันการแพร่ระบาดได้ผลดี ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาเริ่มต้นได้ใหม่ในไม่ช้า แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือที่ออกมาบางเรื่องก็ล่าช้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึง และช่วยไม่สุด

“มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือด้านต่างๆ ของรัฐบาลถือว่าออกมาเยอะมาก แต่ยังมีบางเรื่องที่ดำเนินการได้ล่าช้า เข้าไม่ถึง และช่วยไม่สุด เช่น ที่ผ่านมารัฐมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดตามประกาศรับเงิน 5,000 บาท แต่ผู้ประกอบการที่ไม่ถูกสั่งปิด ก็ได้รับผลกระทบ ลูกจ้างในระบบก็ไม่รับความช่วยเหลือ”

เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีก็รับฟังและสั่งการให้สมาพันธ์ฯ เร่งหารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปมาตรการให้ความช่วยเหลือภายในสัปดาห์หน้า พร้อมนำกลับมารายงานนายกฯ อีกครั้ง พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงพัฒนาเรื่องฐานข้อมูล (บิ๊ก ดาต้า) เพื่อเชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีและให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินธุรกิจให้เอสเอ็มอีเข้าใช้บริการได้และรัฐจัดลำดับการให้ความช่วยเหลือได้ถูกจุด

น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า ทางสมาพันธ์ฯ ได้เสนอแนวคิด “ต่อลมหายใจ เริ่มต้นใหม่ ใส่วิตามิน” ต่อที่ประชุม โดย “การต่อลมหายใจ“ เอสเอ็มอีด้วยการช่วยเหลือเงินชดเชยเยียวยาผู้ประกอบการที่ยังมีการจ้างงานให้แรงงานในระบบรายละ 5,000 บาทผ่านนายจ้าง เช่นเดียวกับที่ให้ความช่วยเหลือนอกระบบเป็นแนวทางที่เข้าถึงได้เร็วที่สุด
การผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ ด้วยการตั้งกองทุนพิเศษเพื่อเอสเอ็มอีที่เสนอให้มีตัวแทนภาคสถาบันการเงินทั้งจากรัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาสินเชื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณา ช่วยให้การพิจารณารวดเร็วขึ้น จากปัจจุบันมีเพียงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งพิจารณาเท่านั้น ทำให้เกิดความล่าช้า ลดค่าใช้จ่ายของเอสเอ็มอีด้วยระบบภาษี หรือการจัดเก็บของภาครัฐทั้งหมดทั้งด้านสาธารณูปโภค / ค่าโสหุ้ยการต่ออายุต่างๆ เช่น อย. ภาษีโรงเรือน ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30% เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีมีเงินเหลือในกระเป๋าสำหรับดำเนินธุรกิจมากขึ้น

“การเริ่มต้นใหม่” เสนอให้ภาครัฐปรับหลักเกณฑ์และกำหนดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐให้มีการซื้อสินค้าไทยใช้ของไทยจากเอสเอ็มอีในพื้นที่ 30% ช่วยเพิ่มแต้มต่อให้เอสเอ็มอีรายเล็กสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งการพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ตลาดในประเทศเพื่อเปิดตลาดทั่วประเทศ ตลอดจนการยกระดับตลาดชุมชนในการปรับปรุงตลาดถนนคนเดิน ตลาดประจำอาเภอ ตลาดท้องถิ่น ส่วนตลาดต่างประเทศให้นำแพลตฟอร์มต่างชาติส่งเสริมกลไกการค้าขายชายแดน

“การใส่วิตามิน” โดยการสร้างผู้ประกอบการใหม่จากคนตกงาน และนักศึกษาจบใหม่ หรือการยกระดับแรงงานแปลงร่างเป็นผู้ประกอบการ ควบคู่กับการยกระดับแรงงาน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดิมในระบบให้เก่งอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีนำธุรกิจก้าวสู่ยุคดิจิตอลได้ในต้นทุนที่ต่ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน