กรมสรรพากรยกธงรีดภาษีหลุดเป้า 7 เดือนแรกหายไป 7 หมื่นล้าน เตรียมรื้อกรอบจัดเก็บใหม่ เน้นผู้ประกอบการและประชาชนมากขึ้น

สรรพากรรีดภาษีหลุดเป้า – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อประมาณการจัดเก็บรายได้ในปี 2563 ใหม่ จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ในภาพรวมของกรม โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.2562-เม.ย.2563) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเก็บรายได้ปีนี้ก็จะใช้เป็นฐานในการตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปี 2564 ด้วย

อย่างไรก็ดี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรประเมินทิศทางการจัดเก็บรายได้เพื่อทำแผนให้ชัดเจน ซึ่งยอมรับความจริงว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จะไปตามไล่บี้เก็บภาษีก็ไม่ใช่เรื่อง ก็จะไม่เน้นเป้าหมายเป็นหลัก แต่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้กรมใช้เครื่องมือภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนมากขึ้น

“แนวโน้มการจัดเก็บรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ขอหารือกับ สศค. ให้มีความชัดเจนก่อน ขอดูฐานปีนี้ให้นิ่งก่อน อย่างที่เรารู้ ตัวเลขล่าสุดดูยาก เพราะมีการเลื่อนการจัดเก็บภาษี”

นายเอกนิติ กล่าวว่า กรมอาจจะต้องมีการพิจารณามาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ในช่วงฟื้นฟูหลังโควิด-19 ได้สั่งให้ทีมไปเตรียมแผนไว้ ส่วนการเลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลออกไป รายได้ส่วนนี้ไม่ได้หายไปไหน เพราะจะกลับเข้ามาในช่วง ส.ค. ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นการช่วยให้ประชาชน ผู้ประกอบการ มีเงินเหลือในกระเป๋าช่วงวิกฤตไปก่อน

ขณะที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ส่งสินค้าตอนนี้ แม้ว่าจะขยายตัวได้ดี กรมก็ไม่มีนโยบายเข้าไปจัดเก็บภาษี ค้าขายออนไลน์ ถ้าเป็นรายเล็ก มีรายได้ไม่มาก ไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ก็จะมีการส่งทีมวิเคราะห์ข้อมูล เข้าไปหารือ เพื่อสร้างความเข้าใจ ในการขยายฐานภาษี ให้เกิดความเต็มใจในการเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น

นายเอกนิติ กล่าวว่า ผลจากมาตรการลดผลกระทบโควิด กรมลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตรา 3% เหลือ 1.5% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2563 เสียรายได้ไปแล้ว 27,000 ล้านบาท และได้เร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วกว่า 95 % จากผู้ขอคืนทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นภาษีที่คืนประมาณ 28,000 ล้านบาท เร่งคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 27,185 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน