ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหั่นจีดีพีปีนี้อีกติดลบ 6% – ดอกเบี้ยยังลงได้อีกหากจำเป็น ชี้เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังอยู่ที่ความกังวลหลังคลายล็อกดาวน์แล้วจะเกิดการแพร่ระบาดซ้ำหรือไม่

กสิกรไทยหั่นจีดีพีปีนี้ – น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกขึ้นจากเดิมที่ -5% มาเป็น -6% โดยเป็นการปรับตามกิจกรรมเศรษฐกิจหรือสถานการณ์จริง ทั้งแนวโน้มการบริโภคภาครรัวเรือนที่จะชะลอตัวลง หลังจากประชาชนมีการเร่งซื้อสินค้าตุนไปช่วงก่อนล็อกดาวน์ในเดือนมี.ค. ไปแล้ว
ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยจะมีการเก็บออมกันมากขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะความไม่แน่นอนในระยะข้างข้างหน้า รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง จากกำลังการผลิตโดยรวมที่เหลือประมาณ 55% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ พลังงาน ตลอดจนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จากการที่สหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเมืองทั้งการเมืองระหว่างประเทศ และในประเทศ อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย

“ความเสี่ยงของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง อยู่ที่ความกังวลหลังคลายล็อกดาวน์แล้วจะเกิดการแพร่ระบาดซ้ำหรือไม่ และหากเกิดจะต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนเดิมหรือไม่ รวมถึงประเด็นเรื่องความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงหลายด้านทั้งการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองในประเทศ และยังมีเรื่องโรคระบาดด้วย ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก รวมถึงตลาดเงิน ตลาดทุนด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศ ส่วนผลกระทบทางอ้อมจะทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวน”น.ส.ณัฐพร กล่าว

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทของไทยสิ้นปีนี้อยู่ในกรอบ 31.5-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 0.5% ทั้งนี้ มองว่าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังสามารถทำได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ได้แย่ถึงกับมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ โดยหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังสามารถทำได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ได้แย่ถึงกับมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

ด้านน.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ถือเป็น 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่หากมองจากมิติของการจ้างงาน ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีแรงงานในห่วงโซ่มากถึง 4 ล้านคน จะเป็นธุรกิจที่ภาครัฐจะพุ่งเป้าหมายการเยียวยาไปที่ธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับต้นๆ โดยต้องยอมรับว่าธุรกิจหลักของไทยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการฟื้นตัวให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน