ธนาคารไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีไทยปีนี้หดตัว -7.3% มองเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ารูปตัว U เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ขณะที่ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2563 อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปรับประมาณการการหดตัวลงเป็นติดลบ -4% ต่ำสุดในรอบ 90 ปี

ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีติดลบ – นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรืออีไอซี ธนาคาร ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 จากติดลบ -5.6% เป็นติดลบ -7.3% โดยหดตัวมากขึ้น จากผลกระทบของการแพร่ไวรัสโควิด-19 ที่มากกว่าที่คาด และส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะเหลือเพียง 9.8 ล้านคน ซึ่งลดลงจาก 40 ล้านคนในปี 2562 หรือลดลงประมาณ 75% ทั้งนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศคิดเป็น 12% ของเศรษฐกิจไทย

แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ซึ่งอีไอซีประเมินว่าจะติดลบ -12% โดยหลักๆ ยังคงมาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป 100% จากมาตรการล็อกดาวน์ และหลังจากนี้จะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากการที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์เป็นระยะๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยคงต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างช้าๆ หรือเป็นลักษณะตัว U และกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปเท่ากับระดับเดียวกับปี 2562 คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี หรือในช่วงต้นปี 2565 ขณะที่ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2563 อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปรับประมาณการการหดตัวลงเป็นติดลบ -4% ต่ำสุดในรอบ 90 ปี

ปัจจัยที่ทำให้มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะยังถูกกระทบจากอัตราการว่างงานที่สูง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะถูกกดดันจากยอดขายที่ซบเซา งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และความไม่แน่นอนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีไทยและภาคครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เปราะบาง อย่างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างโรงแรม ร้านอาหาร สันทนาการ และการขนส่ง แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมหากปัญหารุนแรงขึ้น รวมถึงธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐเองก็อาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้วยเช่นกัน

สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวสูงที่ -10.4% ใกล้เคียงกับที่คาดไว้จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงที่มีมาตรการปิดเมือง เดือนเม.ย. ที่หดตัวไปกว่า -15.1% แต่ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง เริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเดินทางในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว

ขณะที่สินค้าคงทนที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อ อย่าง รถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัย ความต้องการซื้อจะหดตัวตามการจ้างงานและรายได้ของภาคครัวเรือนที่ลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ฟื้นตัวช้าเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม การใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม บริการทางการแพทย์ การสื่อสาร ซึ่งจะได้รับแรงสนับสนุนเสริมจากมาตรการโอนเงินช่วยเหลือและมาตรการพักหนี้ของภาครัฐจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ติดลบ -1.1% และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หรือภาวะที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการซื้อซบเซา ดังนั้ต้องจับตาว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นกลับมาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กลับมาเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยได้หรือไม่ และจากแนวโน้มเงินเฟ้อติดลบทำให้ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี และพร้อมจะใช้เครื่องมือต่างๆ เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น หรืออาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพิ่มเติม

ส่วนทิศทางของค่าเงินบาท อีไอซีคาดอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาก จากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามภาคการท่องเที่ยวและความต้องการในประเทศ

สำหรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าที่สำคัญ คือ โอกาสในการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักอีกครั้ง นอกจากนี้ สงครามการค้าโลก ที่อาจรุนแรงขึ้นและกระทบต่อปริมาณการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน และยุโรป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน