นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์ โครงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รายละ 5,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน ว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวันสุดท้ายที่กระทรวงเกษตรฯ เปิดโอกาสให้ยื่นอุทธรณ์การเยียวยา พบว่ามีรายชื่อผู้ยื่นกว่า 1.8 แสนคน สูงกว่าที่คาดหมายเอาไว้

เมื่อนำมาจัดกลุ่มผู้ยื่นอุทธรณ์พบว่า มี 6 กลุ่มประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ได้ทำการตรวจสอบรายชื่อก่อนหน้านี้ แต่ไม่พบเนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ได้อนุมัติ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 8 หมื่นราย ซึ่งปัจจุบันได้จัดส่งเงินเยียวยาให้เรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาติดขัด

2. เป็นเกษตรกรแต่มีอาชีพรับจ้าง ซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคมด้วย ประมาณ 8 หมื่นราย ในกรณีนี้ให้หน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์อีกครั้ง และให้พิจารณาเป็นรายกรณี และต้องหารือกับประกันสังคมให้ชัดเจนด้วย

3. เกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 8 หมื่นราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไม่อนุมัติ เพราะขัดกับเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้เยียวยากับกลุ่มที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าเป้าหมายของการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นจึงจะยกไปพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ หากเห็นชอบก็สามารถอนุมัติจ่ายได้ทันที

4. เกษตรกรที่มีรายชื่อซ้ำซ้อนกับที่ยื่นขอในโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ได้สละมาใช้สิทธิ์รับการเยียวยาฝั่งภาคการเกษตร ประมาณ 1,000 ราย กลุ่มนี้ควรได้รับการเยียวยาเช่นกัน

5. เกษตรกรที่ถูกดีดออกมาจากโครงการไม่ทิ้งกันก่อนหน้านี้ เพราะตรวจพบว่ามีรายชื่อเป็นสมาชิกครัวเรือนเกษตรกร 2,000 ราย แต่ภายหลังโครงการเราไม่ทิ้งกันเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ และรับเงินเยียวยาไปแล้ว

และ 6. กลุ่มข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ ประมาณ 2,000 ราย กรณีนี้จะไม่ได้รับการเยียวยาตามเงื่อนไข แต่กระทรวงเกษตรฯ ต้องมีเหตุผลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปตอบคำถามในพื้นที่ได้

“ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ต่างๆ อยู่ระหว่างคีย์รายชื่อเข้าระบบ แต่คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 แสนราย การตรวจสอบและการจ่ายเงินทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อสรุปวงเงินที่ใช้เยียวยาให้ชัดเจน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน