เกษตรฯซับพิษโควิด เพิ่มเงินให้เกษตรกร 9 หมื่นล้าน ทั้ง ลดหนี้-ชะลอดอกเบี้ย-เร่งจ้างงาน – กยท.ชงทะเบียนชาวสวนไร้เอกสารสิทธิ์รับ 1.5 หมื่นบาท ให้ครม.เคาะ

เกษตรฯซับพิษโควิด – นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. นำรายชื่อเจ้าของทะเบียนชาวสวนยางพารา 1.437 แสนราย ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถือบัตรประจำตัวเกษตรกรสีชมพู เข้าเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน เพราะในกลุ่มนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง แต่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ในการทำกิน หรือไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

สำหรับการโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรงวดที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค-6 มิ.ย. 2563 รวมทั้งสิ้นจำนวน 7.145 ล้านรายราย จำนวนเงิน 35,726.65 ล้านบาท ทั้งนี้ วันที่ 14 มิ.ย. 2563 ไม่มีการโอนเงินให้เกษตรกร และในวันที่ 15 มิ.ย. 2563 จะมีการทะยอยโอนเงินให้เกษตรกรทั้งหมด 7.145 ล้านราย ในงวดที่ 2 จำนวน 5,000 บาท หรือคนที่ยังไม่ได้รับงวดแรกจะได้รับครั้งเดียว 10,000 บาท และธ.ก.ส. จะสามาสรถโอนได้วันละ 1 ล้านคน

ส่วนการการอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.-5 มิ.ย. 2563 มีเกษตรกรยื่นเรื่องอุทธรณ์เยียวยาที่หน่วยงานในระดับพื้นที่ทั้ง 8 หน่วยงาน จำนวน 191,146 ราย รวมทั้งสิ้น 192,702 เรื่อง โดยจำแนกเรื่องตามหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดังนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร 169,597 เรื่อง กรมปศุสัตว์ 14,405 เรื่อง กรมประมง 1,655 เรื่อง การยางแห่งประเทศไทย 6,806 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 215 เรื่อง กรมหม่อนไหม 20 เรื่อง และกรมสรรพสามิต (ทะเบียนยาสูบ) 4 เรื่อง

มีผลการดำเนินงาน หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 16,076 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต้นสังกัด 489 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 176,137 เรื่อง และเกษตรกรสามารถตรวจสอบสิทธิการได้รับการช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์www.moac.go.th หรือ แอพพลิคชั่น “เกษตรดิจิทัล-Digital Farmer”

รายงานข่าวจากศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มเงินสดในมือเกษตรกร 91,261 ล้านบาท หรือประมาณ 4.03% จากเป้าหมาย 1.31 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องหนี้สิน มีเป้าหมาย ช่วยเหลือ 1.31 ล้านล้านบาท ช่วยเหลือได้ 3.87% หรือ 50,584 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการต่างๆ อาทิ ขยายเวลา พักชำระหนี้ งด ปรับลดดอกเบี้ย ลด งดขายทอดตลาด และชะลอการบังคับคดีของลูกหนี้กองทุนหมุนเวียน เป็นต้น

ดำเนินการเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป้าหมาย 4,775 ล้านบาท 58.76% รือ คิดเป็น 2,763 ล้านบาท โดยการ ปรับลด งดส่งค่าหุ้นสหกรณ์ 2,666 ล้านบาท และ ผ่อนผัน งดเก็บค่าเช่าที่ดิน สปก. 97 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างรายได้ จ้างงานชลประทานเป้าหมาย 88,838 ราย 4,497.59 ล้านบาท ค่าจ้าง 378 บาท/วัน หรือ 8,000 บาท/เดือน และเพิ่มช่องทางจำหน่าย และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร มูลค่า 601 ล้านบาท และเมื่อรวมเงินที่รัฐบาลเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทระยะเวลา 3 เดือน ที่มีการจ่ายไปแล้ว 35,726.65 ล้านบาท จึงทำให้ระยะที่ผ่านมาเกือบ 3 เดือนรัฐบาลเพิ่มเงินให้เกษตรกรแล้ว 91,261 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน