นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว การแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (สะสม) ช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย. 2563) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,032.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปี 2562 มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มลดลง 10.7% โดยแยกเป็นการส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,280.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.4% และ การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 752.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.8%

นายสมเด็จ กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าและการส่งออกของประเทศใน 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงมีแนวคิดในการพลิกฟื้นการค้าและการส่งออกของประเทศโดยการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับธุรกิจตามวิถีใหม่ (New normal) สำหรับภาคธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดโอกาสการเรียนรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และไลฟ์สไตล์ โดยการดำเนินโครงการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มิติใหม่ของวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและไลฟ์สไตล์ของไทย โดยนำร่องพัฒนา 30 ผลิตภัณฑ์ นำไปทดสอบตลาดคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10% หรือมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สถาบันฯ เป็นอีกหน่วยงานที่มุ่งสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการผลิต สามารถพัฒนาสินค้าสนองต่อความต้องการของตลาดระดับบน (High-end Market) มุ่งเน้นการสร้างความแตกต่าง โดยในโครงการฯ มีแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Key Success factors for Circular Economy) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนี้ เช่น Sustainable materials: การเลือกใช้วัสดุและวัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่/รักษาสิ่งแวดล้อม Sustainable processes: การใช้กระบวนการผลิตและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ที่เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้อยสุด Waste reduction: การจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ รวมทั้งการรักษาประสิทธิภาพของระบบ ผ่านการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบ (Negative externalities)

Local production: การผลิตและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยใช้ท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งการผลิตและบริโภค เพื่อให้เกิดการผลิตในประเทศไทยCrafts Community: การให้ความสำคัญกับวิสาหกิจชุมชนและสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงพื้นเมือง เพื่อสร้างการจ้างงานและสร้างรายได้ในชุมชน

โดยสถาบันฯ จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น การสร้างความแตกต่างด้วยแนวคิดข้างต้น ขณะเดียวกันเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้ว จะมีการนำไปทดสอบตลาดในงาน TEXWORLD PARIS ในเดือนก.ย. 2563 เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำกลับมาปรับปรุงอีกครั้ง ก่อนออกวางจำหน่ายจริง และจัดเจรจาธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่าย และมั่นใจว่าโครงการฯ จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และแฟชั่นไลฟ์สไตล์ สู่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ให้มีมูลค่า ความแตกต่าง และสู่สากล ซึ่งเป็นหนึ่งแรงที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการค้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน