รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งว่า เร็วๆ นี้ กพท. เตรียมออกประกาศแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ (สายการบิน) และผู้ดำเนินการสนามบิน (สนามบิน) มีแนวทางในการปฏิบัติการให้บริการการบินในเส้นทางระหว่างประเทศที่สอดคล้อง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่างประกาศดังกล่าวให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.พิจารณาอนุมัติ

สำหรับข้อปฏิบัติใหม่ๆ ที่สายการบินที่กลับมาบินเส้นทางระหว่าประเทศจะต้องปฏิบัติ หลังจากโลกประสบปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดคือสายการบินจะต้องตรวจคัดกรองผู้โดยสารหากท่าอากาศยานต้นทางไม่ดำเนินการ ด้วยการวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกาย หากสูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขวินิจฉัย หากพบว่าเสี่ยง ให้ระงับการออกบัตรโดยสาร , ผู้โดยสารที่ไม่มีหน้ากากปิดจมูกและปาก และไม่สามารถจัดหามาก่อนเดินทาง ให้ระงับการออกบัตร และบังคับให้ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในอากาศยาน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน

สายการบินจะต้องมีมาตรการและวิธีปฏิบัติ เพื่อรักษาระยะห่างผู้โดยสารตลอดการเดินทาง ทั้งขั้นตอนการลำเลียงผู้โดยสารขึ้นและลง การเข้าแถวรอเข้าห้องน้ำ และต้องจำกัดการรวมกลุ่มในขณะจัดเก็บหรือหยิบสัมภาระในที่เก็บของเหนือศีรษะ , ห้ามย้ายที่นั่งโดยไม่จำเป็น รวมทั้งต้องจัดให้มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% ใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการ

สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานนั้น กำหนดให้นักบินต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก ส่วนลูกเรือให้สวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก และถุงมือยาง รวมทั้งต้องสื่อสารกับนักบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารภายในอากาศยานเป็นหลัก จะเดินเข้าและออกห้องนักบินเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น

ส่วนการให้บริการบนเครื่องลูกเรือจะต้องงดการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร กับผู้โดยสาร ยกเว้น เอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและงดการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและสินค้าปลอดภาษีอากรแก่ผู้โดยสาร

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินน้อยกว่า 120 นาที ให้งดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม , ห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมา ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นลูกเรือจะเป็นผู้พิจารณา ส่วนเที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินมากกว่า 120 นาที อนุญาติให้บริการอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยต้องเป็นบรรจุภัณฑ์แบบปิดสำหรับการให้บริการและการจัดเก็บหลังการให้บริการ

นอกจากนี้ ต้องมีการสำรองที่นั่ง 3 แถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค กรณีพบผู้โดยสารหรือลูกเรือป่วยไวรัสโคโรนา 2019 ขณะอยู่ในอากาศยาน ให้สายการบินทำการแยกกักผู้ที่ป่วยให้นั่งที่ที่นั่งซึ่งสำรอง ให้ห่างไกลจากผู้โดยสารคนอื่นมากที่สุด ในกรณีที่มีห้องน้ำมากกว่า 1 ห้อง ให้กันห้องน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณที่สำรอง ไว้สำหรับเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วย

รวมทั้งกันห้องน้ำห้อง 1 ไว้สำหรับลูกเรือได้ใช้โดยเฉพาะ โดยให้คำนึงถึงจำนวนห้องน้ำที่เพียงพอสำหรับผู้โดยสารได้ใช้ด้วย ทั้งนี้ ต้องมอบหมายให้ลูกเรือ 1 คน ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แยกกัก และต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับลูกเรือคนอื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตรด้วย ขณะที่นักบินผู้ควบคุมอากาศยานจะต้องแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้ป่วยต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อรายงานให้แก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทางทราบ

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังการทำการบินเสร็จสายการบินต้องทำความสะอาด ชุดอุปกรณ์ในห้องโดยสารก่อนส่งต่อเครื่อง เช่น อุปกรณ์สาธิตเพื่อความปลอดภัย เข็มขัดนิรภัย เสื้อชูชีพสำหรับทารก เป็นต้น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อด้วย รวมทั้งทำการฆ่าเชื้อโรค ห้องโดยสารตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และในระหว่างที่อากาศยานจอดพักหรือจอดบำรุงรักษา ให้ใช้แหล่งพลังงานสำรอง แทนการใช้อากาศจากสะพานเทียบอากาศยาน และหลังจากไปถึงสถานีปลายทางแล้วควรเปิดประตูระบายอากาศด้วย รวมทั้งให้สายการบินเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง ตามกำหนดเวลาที่ระบุในคู่มือผู้ผลิต ชิ้นส่วนที่ใช้แล้วให้ทำการบรรจุใส่ถุงพลาสติกและปิดให้เรียบร้อย

กรณีที่อากาศยานเกิดปัญหามีข้อบกพร่องเกี่ยวกับระบบทำความเย็นและปรับสมดุลความดันและระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องโดยสาร ต้องทำการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับข้อกำหนดสำหรับสนามบินนั้น กำหนดให้สนามบินต้องตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการ โดยต้องมีการสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ด้วยเครื่องวัดแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกาย หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากาก หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3องศาเซลเซียส ให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่สนามบิน รวมทั้งต้องจัดให้มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% ใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ การให้บริการภายในสนามบินจะต้องเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ในพื้นที่ต่างๆ เช่น เค้าน์เตอร์เช็คอิน , จุดตรวจค้น , พื้นที่ผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง เป็นต้น และต้องจัดทำป้ายสัญลักษณ์ เครื่องหมายบนพื้น เพื่อส่งเสริมการเว้นระยะห่าง , ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค ภายในสนามบินตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

รวมทั้งควรพิจารณาใช้เครื่องปรับอากาศและระบบกรองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความสะอาดของอากาศ ลดการหมุนเวียนและเพิ่มอัตราส่วนอากาศบริสุทธิ์ ทั้งนี้ ควรงดการใช้ลมเป่าแบบแนวนอน และควรหาอุปกรณ์ป้องกันและคัดกรองสุขภาพให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสนามบินด้วย

นอกจากนี้ สนามบินควรมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าอาคารผู้โดยสาร โดยให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่ ผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือเด็กที่เดินทางโดยลำพังก่อน เพื่อลดความแออัดและความเสี่ยงการแพร่ระบาด, ให้นำเครื่องมือบริการตนเอง เช่น เครื่องออกบัตรโดยสารและป้ายติดสัมภาระอัตโนมัติ เครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ เป็นต้น มาใช้ เพื่อลดการสัมผัส

ส่วนระบบตรวจค้นควรพิจารณาใช้เครื่องมือตรวจจับโลหะแบบเดินผ่าน (Walk Through Metal Detector; WTMD) เพื่อลดการสัมผัสของพนักงานตรวจค้น โดยต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าในเรื่องการเตรียมตัวสำหรับการตรวจค้น,ควรปิดการให้บริการหรือเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังพื้น ที่นั่งในร้านอาหารหรือที่นั่งเอนกประสงค์ พื้นที่สูบบุหรี่ พื้นที่เล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น ส่วนการให้บริการสายสายพานรับสัมภาระสำหรับเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงสูงให้พิจารณาแยกใช้สายพานที่กำหนดไว้โดยเฉพาะด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน