นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระยะที่ 4 และยกเลิกเคอร์ฟิว คาดว่าจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ทยอยกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง แต่ภาพรวมยังคงต้องติดตามใกล้ชิด เพราะแรงซื้อของคนไทยยังตกต่ำ และยังมีความไม่แน่นอนจากเชื้อโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดรอบ 2 ทั้งไทยและต่างประเทศ ส.อ.ท. จึงยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2563 อยู่ที่ 1 ล้านคัน หรือลดลงจากปี 2562 ประมาณ 50%

“ส.อ.ท. หวังว่ายอดผลิตรถยนต์ปีนี้เลวร้ายสุดจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เนื่องจากตลาดส่งออกขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่ฟื้นตัวนัก เพราะหลายประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และล่าสุดจีนยังพบผู้ติดเชื้อใหม่หลังคลายล็อกดาวน์ ซึ่งจุดนี้ของไทยเองก็ต้องระวังอย่างใกล้ชิด หากพบมีผู้ติดเชื้ออีกจะนำมาซึ่งการหยุดกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันอีกครั้ง จึงไม่ส่งผลดีต่อแรงซื้อคนไทยแน่นอน จากขณะนี้ที่ตกต่ำอยู่แล้ว”นายสุรพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันค่ายรถยนต์จะมีโปรโมชั่นต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นแรงซื้อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน การลดเงินเดือน และการให้ทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจรายได้ในอนาคตว่าจะมีเพียงพอใช้จ่ายหรือไม่ ทำให้ไม่กล้าออกรถยนต์ใหม่ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการบริโภค ขณะที่ค่ายรถแต่ละรายต่างก็พยายามปรับลดต้นทุนเพื่อประคองให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีค่ายเทสลาประกาศจะพัฒนารถพลังงานไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลกว่า 1 ล้านไมล์ (ราว 1.6 ล้านกิโลเมตร) ว่า ขณะนี้แบตเตอรี่เริ่มพัฒนาอายุการใช้งานได้นานขึ้น และสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีในไทยก็มีมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือราคารถที่จะเป็นปัจจัยหลักให้ตลาดรถอีวีมาเร็ว ซึ่งขณะนี้ราคาส่วนใหญ่เฉลี่ยยังอยู่ระดับ 1-3 ล้านบาท ถือว่ายังเป็นตลาดคนรวย

นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการที่ยอดขายรถยนต์ที่ลดต่ำลง เนื่องจากประมาณ 80% เป็นการผลิตแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือผลิตเพื่อป้อนให้กับค่ายรถและรับจ้างผลิตเป็นหลัก ซึ่งทางกลุ่มยานยนต์พยายามที่จะรักษาระดับแรงงานด้วยการลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้โดยเน้นการจัดสัมมนาให้ความรู้เป็นต้น โดยหลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการระยะ 4 แล้วคาดหวังว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น

“ยอมรับว่าตลาดชิ้นส่วน OEM แนวโน้มครึ่งปีนี้จะลดลงกว่า 50% เพราะผลกระทบโควิด-19 ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้สายป่านทางการเงินไม่ได้มากนัก หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ยิ่งกระทบต่อภาวะการขาดทุนและแรงงานมากขึ้น ขณะนี้เรากำลังรวบรวมปัญหาเพื่อที่จะเร่งหาแนวทางแก้ไขภาพรวมอยู่”นายพินัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน