‘ขรก.-ขรก.บำนาญ’ กว่าหมื่นรายโอดราคาผลผลิตตกต่ำ แห่ยื่นอุทธรณ์ขอเยียวยา – มึน! สละสิทธิ์เราไม่ทิ้งกันอดเยียวยาเกษตรกรด้วย

‘ขรก.-ขรก.บำนาญ’แห่อุทธรณ์ – นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์โครงการช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.-5 มิ.ย. 2563 มีเกษตรกรยื่นเรื่องอุทธรณ์เยียวยาที่หน่วยงานในระดับพื้นที่ทั้ง 8 หน่วยงาน จำนวน 192,511 ราย รวม 194,021 เรื่อง

ทั้งนี้ แบ่งการอุทธรณ์เป็น 6 กลุ่มคือ 1. ไม่พบสิทธ์เยียวยา 76,058 ราย 2. ได้รับการเยียวยา พบสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน 12,388 ราย 3. ถูกตัดสิทธิ์เยียวยาเกษตรกรเนื่องจากเป็นผู้ได้รับสิทธิ์โครงการเราไม่ทิ้งกัน 1,254 ราย 4. เป็นผู้ได้รับสิทธิประกันสังคม 91,752 ราย 5. เป็นข้าราชการ 3,146 ราย และ 6. เป็นข้าราชการบำนาญ 7,895 ราย

“จากการตรวจสอบรายละเอียดของการอุทธรณ์ ของผู้ที่ยื่นขอรับการเยียวยาเกษตรกร เดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือนนั้น มีการอุทธรณ์มาจำนวนมากทุกกลุ่ม แต่ต้องรวบรวมรายละเอียดเสนอ และปัญหาอุปสรรคเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ เพื่อพิจารณาอีกครั้งว่ามีใครตกหล่น ไม่ได้รับการเยียวยา อาทิ กลุ่มที่สละสิทธิ์จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน 1,254 ราย แล้วมาขอรับสิทธิ์เยียวยาเกษตรกร เมื่อมีการยื่นอนุมัติได้สิทธิ์โครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว มาขอเยียวยาเกษตรกร สิทธิ์เดิมที่อนุมัติในโครงการเราไม่ทิ้งกันยังอยู่ จึงทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ทั้ง 2 โครงการ”

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการเข้าไปดูเหตุผลการอุทธรณ์ พบข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญ จำนวน 11,041 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอรับสิทธิ์การเยียวยาโดยให้เหตุผล เป็นข้าราชการอาชีพหลัก ทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม แต่มีรายได้ต่ำ ขายผลผลิตได้น้อย ต้องการสิทธิ์ ส่วนกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบรายชื่อเกษตรกรที่เสียชีวิต จำนวน 106,742 รายได้ส่งรายชื่อมาที่สำนักงานเศรษฐกิจกิจการเกษตร (สศก.) พบเป็นทะเบียน กรมส่งเสริมเกษตร 28,098 ราย กรมปศุสัตว์ 68,657 ราย กรมประมง 9,967 ราย

สำหรับรายชื่อผู้เสียชีวิตกำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าสิทธิ์การเยียวยา เป็นสิทธิ์เฉพาะตัว หรือ สิทธิ์ตกทอดได้ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณารายลเอียดของผู้ที่เสียชีวิตแต่ละราย หากพบเสียชีวิตตั้งแต่ 1 พ.ค. 2563 เป็นต้นมา อาจจะต้องแยกพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องรอกลุ่มที่ 3 คือ เกษตรกรกลุ่มที่ยังไม่ได้เพาะปลูกเพาะประสบภัยแล้ง ไม่ได้เพาะปลูกพืชเกิน 15 วัน คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ จึงอนุโลมให้ดำเนินการเพาะปลูกจนถึง 15 มิ.ย. กลุ่มนี้อาจมีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าของทะเบียนหรือหัวหน้าครอบครัวด้วย

ส่วนผลการโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. – 16 มิ.ย. 2563 รวมทั้งสิ้น 46,178.22 ล้านบาท จำแนกเป็นการโอนเงินในเดือน พ.ค. 2563 จำนวน 7,235,675 ราย จำนวนเงิน 36,178.38 ล้านบาท และเดือน มิ.ย. 2563 จ านวน 1,999,968 ราย จำนวนเงิน 9,999.84 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน