รายงานพิเศษ : งัดเศรษฐกิจไม่ขึ้น-ยิ่งกว่า‘ต้มยำกุ้ง’ ไทยอ่วมพิษ‘โควิด’-ลากยาวข้ามปี
งัดเศรษฐกิจไม่ขึ้น-ยิ่งกว่า‘ต้มยำกุ้ง’ : “ไม่นึกว่าจะต้องเจอสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ จนกลายมาเป็น รมว.คลัง ในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการกู้เงินมากที่สุด ยอมรับว่ารัฐบาลอยากช่วยมากกว่านี้ แต่ในเวลาที่มีจำกัด ทรัพยากรที่มีจำกัด รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากช้าเกินไปจะพลาดจังหวะ พลาดโอกาส และจะกลายเป็นปัญหาที่ลึกและฟื้นตัวยาก”
วาทะของ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ ‘เหนือความคาดหมาย’ ในการรับมือผล กระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ‘โควิด-19’
ที่สะท้อนให้เห็นว่าคลังอยู่ในภาวะหลังชนฝา และยังฝ่าทางตันทางเศรษฐกิจไม่ได้
เดิมพันครั้งสำคัญ คือการอัดฉีดเงินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการออกพ.ร.ก.กู้เงินโดยตรง 1 ล้านล้านบาท แบ่งสำหรับใช้เยียวยา 6 แสนล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท
นับรวมการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ทั้งผ่านธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท และพ.ร.ก. ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสน ล้านบาท
ไม่รวมการเติมสินเชื่อเข้าระบบของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หลายแสนล้านบาท จะคุ้มได้ คุ้มเสีย ชีพจรเศรษฐกิจ จะกระตุกขึ้นหรือไม่
ตัวชี้วัดล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยัง ‘โคม่า’ อาการไม่สู้ดีนัก
แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มมีการหมุนเงินเข้าระบบ ผ่านการ ออกพ.ร.ก.ซึ่งเริ่มโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ จากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน 2.4 แสนล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.และโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร 1.5 แสนล้านบาท ตั้งแต่พ.ค.ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลสักเท่าไหร่
ทำให้กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบมากที่สุดครั้งประวัติศาสตร์ คือลบ 8.1% หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 7.6% และมีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มไป ด้านต่ำ
คือมีโอกาสติดลบมากกว่านี้ ถ้าสถานการณ์ยังไม่เห็นหัวเห็นหางประคองไข้ต่อไปเรื่อยๆ
ด้าน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจขยายตัวติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก
รวมทั้งมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน
คาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบ 10.3% มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 15 ล้านคน
การลงทุนภาคเอกชนติดลบ 13.8% ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าติดลบ 3.6% แม้จะอัดเงินเข้ากระเป๋าคนละ 15,000 บาทจาก ‘เราไม่ทิ้งกัน’ และเยียวยาเกษตรกรแล้วก็ตาม
เรียกว่า ‘ปิดตายเศรษฐกิจปีนี้แทบทุกประตู’
“เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ติดลบลึกที่สุดในไตรมาส 2/2563 และช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวแบบติดลบน้อยลง ก่อนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัว 5%”
นายทิตนันทิ์ กล่าว
เครื่องยนต์เดียวที่พอจะเป็นความหวังได้คือการใช้จ่ายของภาครัฐ และเงินที่จะนำมาใช้ได้ตรงที่สุดคือเงิน จาก พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท ที่จนขณะนี้การจ่ายเงิน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ยังมีตกค้างตกหล่น แม้จะ เป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็สะท้อนว่ายังดำเนินการได้ ไม่เบ็ดเสร็จพอ
ยังเหลือกลุ่มลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันไม่ถูกต้องร่วม 3 แสนราย กลุ่มบัตรคนจนกว่า 1.2 ล้านราย กลุ่มเปราะบางชายขอบนับล้านราย ที่ยังรอเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลเริ่มคลายล็อก เข็นมาตรการออกมาล่าช้า
เม็ดเงินที่หวังผลได้ในช่วงครึ่งปีหลังถึงต้นปี 2564 ที่มาจากงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ส่วนราชการเสนอโครงการเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองรอบแรก
ล่าสุด 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายการขอใช้เงินมาแล้ว ร่วม 1.36 ล้านล้านบาท สูงกว่าวงเงินที่ใช้ได้กว่า 3 เท่าตัว
งบส่วนนี้ต้องไว้จัดทำโครงการระดับชุมชน ฝึกทักษะ รองรับแรงงาน ที่อาจจะว่างงาน ตกงานจากวิกฤตโควิด-19 กว่า 6 ล้านคน จะสามารถจัดสรรให้โครงการที่มีศักยภาพ และใช้เม็ดเงินแต่ละบาทได้มีประสิทธิภาพมากน้อย ขนาดไหน
จากการตรวจสอบเว็บไซต์ ThaiMe ปรากฏว่ามีส่วนราชการของบไปใช้ ‘สร้างถนน’ นับหมื่นๆ โครงการ จึงเป็นการวัดฝีมือคณะกรรมการกลั่นกรองว่า จะปล่อยผ่าน ขีดเส้นหลักเกณฑ์ และได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินอย่างไร
ไม่ใช่ปล่อยให้โครงการลงทุนที่อยู่ในปีงบประมาณ ปกติ มาปัดฝุ่นเขียนโครงการขอใช้เงินกู้ ที่ควรกันไว้ใช้กับโครงการที่มีความจำเป็นมากกว่า และไม่นับการตรวจสอบการรั่วไหล การใช้เงินกู้ ที่ต้องมีความเข้มข้น เพราะแน่นอนว่าเค้กก้อนนี้กว่า 4 แสนล้าน เป็นที่หมายตาของทุกคนทุกฝ่าย ที่ต้องการนำไปใช้
นอกจากนี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือจำนวนหนี้มหาศาลที่สถาบันการเงินแบกไว้จากมาตรการช่วยเหลือและพักชำระลูกหนี้
นำมาซึ่งคำสั่งของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงิน งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และห้ามซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาเงินกองทุนไว้ในระดับสูง และให้ทำแผนบริหารกองทุนในช่วง 1-3 ปี มารายงาน ธปท.ในเดือน ก.ค.
เป็นคำสั่งที่แทบจะไม่เคยเห็นนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง แม้จะอ้างว่าเป็นแนวทางที่หลายๆ ประเทศก็ดำเนินการก็ตาม
นอกจากสั่งให้รักษาระดับเงินกองทุนแล้ว ยังออกมาตรการแบบยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อให้ธนาคารรักษาระดับหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วงต่อไป
แม้ว่าในทางกลับกันจะเป็นผลดีต่อลูกหนี้ แต่เป็นการยืดลมหายใจให้ธนาคารแบกหนี้เสียในระดับที่พอดูได้จนถึงสิ้นปี
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกมาในระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มมีผล 1 ก.ค. เช่น ลดเพดานดอกเบี้ยมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.2563 โดยหนี้บัตรเครดิตลดลง 18% เหลือ 16% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน ลดลงจาก 28% เหลือ 25%
สินเชื่อส่วนบุคคลผ่อนชำระเป็นงวด ลดลงจาก 28% เหลือ 25% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดลงจาก 28% เหลือ 24%
บางมาตรการเปิดให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตเป็นระยะยาว 48 เดือน คิดดอกเบี้ยในอัตรา 12% ต่อปีได้ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งเลื่อนชำระค่างวด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้าน
หลายมาตรการรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินที่เตรียมไว้ รองรับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นการแก้ปัญหาแบบ ‘มือระวิง’
เมื่อฉายภาพไปถึงสิ้นปีบางมาตรการทำได้เพียงกรองความเสียหาย และบางมาตรการยังไม่เห็นผลชัดเจน ถ้าวิธีการปฏิบัติยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
ที่แน่นอนตลอดทั้งปี 2563 นี้ เศรษฐกิจไทยและคนไทย ยังต้องจมกับ ‘ไข้โควิด’ กันไปยาวๆ ทั้งปี
เม็ดเงินที่เติมเข้ามาในระบบ แม้จะมากขึ้น แต่โควิดก็ดื้อยาขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
จึงเป็นความท้าทายทั้งรัฐบาลที่ต้องสู้แบบเดิมพัน ทั้งหน้าตักต่อไป
ส่วนประชาชนต้องรัดเข็มขัด ปรับวิถีชีวิตสู้กันต่อไป
จนกว่าวิกฤตนี้จะมีทางออก