นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพ.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 80.31 หดตัว 23.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 104.57 นับเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 101 เดือน หรือ 8 ปี 4 เดือนนับจากเดือนม.ค. 2555 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ยังส่งผลให้กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เพราะหลายประเทศยังใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเข้มข้น ผู้ประกอบการจึงลดวันทำงานลง ทำให้ภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 52.84% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้อัตรากำลังการผลิต 26.86%

ทั้งนี้ ยอมรับขณะนี้ไทยยังไม่เห็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เห็นผลทันท่วงทีจากทางรัฐบาลหลังโควิด-19 คลี่คลาย เป็นปัจจัยที่หลายฝ่ายอยู่ระหว่างติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบกับยังต้องจับตามองการวางตัวรมว.คลัง ที่มีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้การทำงานของรัฐบาลชะงัก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“ไม่เฉพาะ 3 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาเฉพาะหน้า แต่นโยบายจากนี้ไปก็ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะต้องยอมรับว่าผลกระทบครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ประเทศไทยประสบมา และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการควบคุมโควิด-19 ในต่างประเทศจะยุติลงเมื่อไหร่ย่อมส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้”

อย่างไรก็ตาม สศอ.ประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย.จะกลับมาดีขึ้น หลังเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของดัชนีเอ็มพีไอเดือนพ.ค.เทียบกับเดือนก่อนขยายตัว 2.86% โดยเดือนเม.ย.หดตัว 24.69% อยู่ที่ระดับ 78.08 เนื่องจากรัฐบาลผ่อนคลายล็อคดาวน์ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ช่วยให้กิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วนและกิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้

นอกจากนี้ ยังมีเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจากมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนต่างๆ ที่คืบหน้าค่อนข้างมาก เช่น มาตรการเยียวยา 5,000 บาทที่ให้ความช่วยเหลือแล้วกว่า 99% ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ต้องติดตามเพราะส่งผลต่อกำลังซื้อจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและภาพรวมเศรษฐกิจ

“แม้ดัชนีเอ็มพีไอเดือนพ.ค. จะติดลบมาก แต่เมื่อเทียบเดือนต่อเดือนขณะนี้เป็นสัญญาณสำคัญบ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะถัดไปจะเอื้อให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยแค่ไหน รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่าจะเกิดปัญหาฝนขาดช่วงในฤดูฝน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับเพาะปลูกส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อจากภาคเกษตรชะลอตัวลงได้”

อย่างไรก็ตาม สศอ. ยังคงคาดการณ์เอ็มพีไอปี 2563 ทั้งปีติดลบ 6-7% จากเดือนม.ค.ที่ผ่านมา คาดขยายตัว 2-3% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนีเอ็มพีไอเมื่อเดือนม.ค. 2543 และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.5-6.5% จากเดิมคาดขยายตัว 1.5-2.5%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน