ธอส. ย้ำนโยบายรับโควิด ลูกค้าสบายใจได้ ผ่อนไม่ไหว ไม่ยึดบ้าน!

วันที่ 16 ก.ค. นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า นโยบายในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ ธนาคารจะให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพลูกหนี้ ในกลุ่มที่เข้ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 รวม 4.9 แสนราย วงเงิน 4.8 แสนล้านบาท โดยได้สั่งการให้สาขาลงพื้นที่ดูแลลูกค้าเป็นรายคน ดูว่ากลุ่มไหนมีปัญหา ไม่สามารถผ่อนชำระได้ หลังครบกำหนดมาตรการพักหนี้ในเดือน ต.ค. จะช่วยเหลืออย่างไร มีส่วนไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และกลุ่มไหนที่จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ธอส.ไม่มีนโยบายยึดบ้านลูกค้าที่ผ่อนชำระไม่ไหว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ 4.8 แสนล้านบาท ขอให้ติดตามข่าวสารของธนาคารให้ดี โดยเฉพาะช่องทางแอพลิเคชัน จีเอชบี ออล ถ้ารู้ว่าเริ่มผ่อนไม่ไหว ให้เข้ามาเจรจากับธนาคาร ซึ่งยอมรับว่า จากสถานการณ์โควิด เริ่มส่งผลกระทบกับกลุ่มลูกค้า 40% ของพอร์ตสินเชื่อ ที่เป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย บ้างแล้ว”นายฉัตรชัย กล่าว

นอกจากนี้ เตรียมหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ที่จะครบระยะกำหนดตามเกณฑ์ในช่วง ต.ค. โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวจาก ธปท.ระบุว่า จะไม่มีการขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ออกไปแล้ว ก็จะขอความชัดเจนในเรื่องนี้ แม้ว่า ธอส. จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ให้สามารถขยายเวลาพักชำระหนี้ ได้ถึงสิ้นปีนี้ 2563 แล้วก็ตาม โดยยืนยันว่าสภาพคล่องธนาคารสามารถรองรับมาตรการได้จนถึง เม.ย.2564 เนื่องจากเป็นรายได้ทางบัญชี ไม่มีรายรับเข้ามาจริง

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารจะเร่งให้บริการในด้านเงินฝาก ผ่านแอพลิเคชันทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งการขอหนังสือรับรอง การขอเปิดบัญชี ส่วนธุรกรรมเงินกู้ ก็จะให้ยื่นคำร้องขอกู้ ส่งข้อมูล รับแจ้งอนุมัติเงินกู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์

โดยลูกค้าจะมาสาขาของธนาคารเพียง 2 ครั้ง คือ ยื่นเอกสารขอกู้ และ มาเซ็นสัญญาเงินกู้เท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวก และรับสถานการณ์โควิด โดยคาดว่าภายในสิ้นปี จะมียอดลูกค้าที่ใช้แอพลิเคชันของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนราย เป็น 1 ล้านราย

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (30 มิ.ย.) ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 1 แสนล้านบาท 6.21 หมื่นบัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวปีก่อน 12.99% คิดเป็น 50% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 2.1 แสนล้านบาท

โดยมีสินเชื่อคงค้าง 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.89% เงินฝาก 1.06 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 5.68 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.52% ลดลงจากเดือนพ.ค.ที่ 4.75% โดยคาดว่าทั้งปีหนี้เสียจะอยู่ที่ไม่เกิน 4.75% ส่วนกำไรอยู่ที่ 4.83 พันล้านบาท

ทั้งนี้ จากผลกระทบโควิด คณะกรรมการธนาคารเห็นชอบให้ปรับลดเป้าหมายดำเนินงานของธนาคารใหม่ โดยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท จากเดิม 2.1 แสนล้านบาท กำไรเหลือ 8.2 พันล้านบาท จาก 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารจะพยายามปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ได้ตามเป้าหมายเดิม

โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มได้ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าไม่มีการระบาดโควิดรอบ 2 ก็เชื่อว่าจะทำได้ รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นสินเชื่อบ้านรอบใหม่ของรัฐบาลที่จะออกมาครึ่งปีหลัง

นายฉัตรชัย กล่าวว่า สำเหตุที่กำไรลดลงเนื่องจาก มาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการตั้งสำรองหนี้เสีย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ การตั้งสำรองตามเกณฑ์ปกติ ตามเกณฑ์ ธปท. 500 ล้านบาท และ ตั้งสำรองเพื่อความมั่นคง และสำรองตาม 8 มาตรการพักหนี้ มีภาระตั้งสำรองเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน