รายงานข่าวจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า ภาวะการว่างงานในเดือนก.ค. 2560 มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 476,000 คน มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 85,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบกับเดือนมิ.ย. 2560 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 61,000 คน

โดยในจำนวนผู้ว่างงาน 476,000 คนนั้น เป็นผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน 253,000 คน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 99,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.5% ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 74,000 คน อัตราว่างงาน 1.2% ระดับประถมศึกษาจำนวน 33,000 คน อัตราว่างงาน 0.4% และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 16,000 คน อัตราว่างงาน 0.2%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวนผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 57,000 คน มัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 22,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น 19,000 คน ขณะที่ผู้ว่างงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา มีจำนวนลดลง 9,000 คน และระดับประถมศึกษาลดลง 5,000 คน ส่วนด้านประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงานนั้น พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 292,000 คน เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 184,000 คน ซึ่งในกลุ่มนี้ลดลง 13,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนในจำนวน 292,000 คน แยกเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 194,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาสายวิชาการจำนวน 124,000 คน สายอาชีวศึกษาจำนวน 52,000 คน และสายวิชาการศึกษาจำนวน 18,000 คน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 49,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 36,000 คน ระดับประถมศึกษา 9,000 คน และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 4,000 คน

ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานในเดือนก.ค.2560 ที่เพิ่มขึ้น 85,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 33,000 คน ภาคใต้มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 22,000 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีจำวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3,000 คน

สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 37.98 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 12.50 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม 25.48 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค.2559 พบว่า ในภาคเกษตรกรรม มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 70,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในการปลูกข้าว และยางพารา

ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีผู้ทำงานลดลง 490,000 คน เป็นการลดลงในสาขาการผลิตจำนวน 330,000 คน สาขาก่อสร้าง 250,000 คน สาขาการขายส่งและขายปลีก การซ่อมจักรยานยนต์และยานยนต์ 160,000 คน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นจำนวน 160,000 คน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 40,000 คน สาขาการศึกษา 30,000 คน และสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 10,000 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน