สนพ. ประเมินโควิด-19 เลวร้ายสุด ฉุดการใช้พลังงานวูบเกือบ 8% เตรียมถกรมว.พลังงาน คนใหม่ อุ้มค่าครองชีพด้านพลังงานเร็วๆ นี้

จ่อชงรมว.พลังงานคนใหม่ – นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า คาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 จะลดลง 7.9% จากปี 2562 อยู่ที่ 2.72 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำเลวร้ายสุด ซึ่งหลายหน่วยงานประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ติดลบ 10% ถึง 9% เนื่องจากผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะยืดเยื้อ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังผันผวนมากกว่าระดับปกติ

โดยคาดว่าการใช้พลังงานจะลดลงเกือบทุกประเภท แบ่งเป็นการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 6.3% ดีเซลลดลง 4% เครื่องบินลดลง 43.5% ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 10.9% น้ำมันเตาลดลง 10% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 3% ขณะที่ภาพรวมการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2563) ลดลง 10% อยู่ที่ 2.49 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็นการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 7.1% ดีเซลลดลง 4.3% น้ำมันเครื่องบินลดลง 48.6% น้ำมันเตาลดลง 21.2% แอลพีจีลดลง 11.6% ถ่านหินลดลง 0.3% ก๊าซธรรมชาติลดลง 8.5% และไฟฟ้าลดลง 3.9%

สำหรับการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง ส่งผลให้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงขึ้น 30-40% จากอัตรากำลังการผลิตรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 50,300 เมกะวัตต์ จากสัดส่วนการสำรองไฟที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศควรอยู่ที่ 15-20% ดังนั้นเพื่อไม่ให้ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ากับประชาชนในประเทศ จึงได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพัฒนาสายส่งพร้อมทั้งเจรจาขายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับเจรจาให้ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนบางรายเลื่อนและหยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ รวมถึงให้เลื่อนการผลิตไฟเข้าสู่ระบบออกไปด้วย

นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสนพ. เตรียมแผนการดำเนินงานเสนอให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน คนใหม่ พิจารณาในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ที่มีกำหนดการเข้าทำงานที่กระทรวงพลังงานเป็นวันแรก รวมถึงหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานให้กับประชาชนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่หลายมาตรการทยอยสิ้นสุดอายุลง

“มาตรการเยียวยาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องหารือในรายละเอียดกับรมว.คนใหม่อีกครั้งว่ามาตรการจะออกมาอย่างไร ซึ่งขณะนี้มาตรการลดค่าไฟสิ้นสุดลงแล้ว เหลือแต่การสนับสนุนดีมานด์ชาร์จ ที่ยกเลิกแบบเหมาจ่ายไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่การอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงเป็นผู้รับภาระอุดหนุนอยู่นั้น จะสิ้นสุดเดือนส.ค.นี้ ก็คงต้องคุยกันใหม่เช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน ปตท. อุดหนุนราคาเอ็นจีวีสะสมรวมกว่าแสนล้านบาทแล้ว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน