ดีแทคแนะรัฐบาลต้องชัดเจนนำคลื่น 3500 MHz มาประมูลทำ 5G เพื่อสร้างประโยชน์และความยั่งยืนให้ 5G ไทย หลังคลื่นหมดสัมปทานจากดาวเทียมไทยคมเดือนก.ย.ปีหน้า

ดีแทคแนะรัฐนำคลื่น3500ทำ5จี – นายลาร์ส มาร์คุส แอดอุรทุสซัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า รัฐบาลควรจัดทำแผนการประมูลคลื่นที่กำลังจะหมดสัมปทานให้มีความชัดเจน โดยคลื่น 3500 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนก.ย. 2564 จากปัจจุบันคลื่น 3500 MHz อยู่ภายใต้สัมปทาน บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เนื่องจากคลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นมาตรฐานสากลในการนำมาทำ 5 G และประเทศไทยต้องมีเพื่อสร้างประโยชน์ และสร้างความยั่งยืนให้กับ 5G ในไทย

“ที่ผ่านมาดีแทคได้เคยเสนอแนะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่ก่อนประมูลคลื่น 5G ครั้งก่อนว่าควรนำคลื่นย่าน 3500 MHz ออกมาร่วมประมูลด้วย เพราะในทางเทคนิค คลื่นความถี่ย่าน 2600 และ 3500 MHz มีคุณสมบัติที่ทดแทนกันได้ และในหลักปฏิบัติสากล จะมีการนำคลื่นย่านความถี่กลาง (Mid-band) ทั้งสองย่านดังกล่าวมาจัดสรรพร้อมกัน เพื่อป้องกันในกรณีที่เผชิญความขาดแคลนของจำนวนคลื่น และปัจจุบันคลื่น 3500 MHz ได้กลายเป็นคลื่นหลักที่ทั่วโลกใช้ในการทำ 5G ซึ่งขณะนี้กสทช.และรัฐบาลเข้าใจ จึงควรกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการทำแผนประมูล และหวังว่าจะได้ผลสรุประยะเวลาอันใกล้นี้”

นายอธิป กีรติพิชญ์ ผู้เชี่ยวชาญและวิเคราะห์อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ดีแทค กล่าวว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่ที่มีการนำมาใช้ทำ 5G ประกอบด้วย คลื่น Low band คือ 700 MHz , Mid-band คือ 2600 MHz และ 3500 MHz, High band คือ 26 GHz และ 28 GHz โดยคลื่นหลักที่ส่วนใหญ่ทั่วโลกกว่า 70% ใช้ทำ 5G คือ 3500 MHz ซึ่ง 4 ประเทศที่จริงจังและได้ประโยชน์จากการทำ 5G ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทุกประเทศใช้คลื่น 3500 MHz ทำ 5G ทำให้คลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นมาตรฐานสากลในการทำ 5G ดังนั้นไทยจึงต้องมีคลื่น 3500 MHz เพื่อจะสร้างความยั่งยืนให้กับ 5G ไทย

แต่ปัจจุบันคลื่น 3500 MHz ที่อยู่กับไทยคมใช้ในกิจการดาวเทียมสำหรับสถานีโทรทัศน์ จึงต้องมีการปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ใหม่ (รีฟาร์มมิ่ง) เพื่อไม่ให้มีการรบกวนคลื่นกัน โดยคลื่น 3500 MHz ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม อยู่ระหว่าง 3300-4200 MHz ส่วนกิจการดาวเทียมอยู่ระหว่าง 3700-4200 MHz ซึ่งกสทช. กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการรีฟาร์มมิ่ง พร้อมกันนี้หากจะมีการประมูลคลื่น 3500 MHz ควรจะอยู่ที่ 80-100 MHz ต่อใบอนุญาต จึงจะเพียงพอต่อการทำ 5G อย่างไรก็ดี บริษัทเองระหว่างนี้เตรียมทำ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ที่ประมูลมาในไตรมาส 3 และ 4 นี้ ซึ่งจะร่วมทำกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน