เงินเฟ้อส.ค. ติดลบ 0.5% หดตัวน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 – ชี้ผักสดราคาสูงที่สุดในรอบ 13 เดือน พาณิชย์บอกยังไม่น่าห่วงเป็นการสูงขึ้นในระดับปกติ

เงินเฟ้อส.ค. ติดลบ 0.5% – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. 2563 ว่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลง 0.50% ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักสดราคาสูงที่สุดในรอบ 13 เดือน แต่ยังไม่น่าห่วงเป็นการสูงขึ้นในระดับปกติ เนื่องจากฝนตกชุกทำให้ผักบางชนิดออกมาน้อย และความต้องการเนื้อสุกรยังสูงต่อเนื่องทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ขณะที่ราคากลุ่มพลังงานเริ่มทรงตัวแต่ยังต่ำกว่าปีก่อน ส่วนสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณสินค้า ความต้องการ และการส่งเสริมการขาย ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. 2563 สูงขึ้น 0.29%

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนส.ค. 2563 พบว่าสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.73% ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 4.50% จากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มพลังงาน ลดลง 9.70% รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ ลดลง 0.02% การสื่อสาร ลดลง 0.04% (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดเคหสถาน ลดลง 0.12% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.04% และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯ ลดลง 0.22%

ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.31% จากสินค้าบางรายการหมดโปรโมชั่น ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ราคาเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.62% ตามการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 1.49% (ข้าวสารเหนียว) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 3.12% (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาหมึกกล้วย) ผักสด สูงขึ้น 13.94% (ผักชี มะเขือเทศ ต้นหอม) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 3.09% (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.96% (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) และอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน สูงขึ้น 0.48% และ 0.88% ขณะที่ผลไม้ ลดลง 4.99% เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้หลายชนิดออกมาพร้อมกันและมีปริมาณมากกว่าช่วงอื่นๆ

สำหรับเหตุผลหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มติดลบน้อยลงมากจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการคลายล็อกภาคธุรกิจต่างๆ จากปัญหาความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่พบการติดเชื้อโควิดภายในประเทศ ทำให้ความกังวลลดน้อยลงส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มปรับดีขึ้น เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อเริ่มติดลบน้อยลงประกอบกับราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว อาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 4 เดือน ตามความต้องการอาหาร ทั้งการเปิดภาคเรียนใหม่ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ การจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ เริ่มลดน้อยลงและอีกหลายปัจจัย ทำให้เงินเฟ้อทั่วไป 8 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) ลดลง 1.03% เท่านั้น

ทั้งนี้ สนค. มองว่าจากปัจจัยลบด้านโควิด-19 ที่ยังเป็นตัวฉุดความกังวลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่บ้าง แต่จากมาตรการภาครัฐที่กำลังออกมาทั้งการให้เงินสู่ประชาชนบางกลุ่มจะทำให้กระตุ้นภาคเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยในด้านต่างๆ อีกด้วย ดังนั้น คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อเดือน หลังจากนี้จะคงอยู่ในแดนลบ แต่จะหดตัวลงไปไม่มากนัก ดังนั้น จึงคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบ 1.5-0.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.1% ซึ่งมีปัจจัย คือ จีดีพีของประเทศติดลบ 7.6-8.6% อัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน