‘ศักดิ์สยาม’ เล็งให้สัมปทานเอกชน 99 ปี ดึงดูดร่วมเดินรถไฟ-ลงทุนพัฒนาระบบราง – ชี้ต้องกล้ามอบระยะเวลาการให้สัมปทานเอกชน มิฉะนั้นเอกชนจะไม่กล้ามาลงทุน

ศักดิ์สยามเล็งให้สัมปทาน99ปี – นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ และสำรวจความสนใจของเอกชนเบื้องต้นในโครงการศึกษาการกำกับการใช้ประโยชน์ราง และกฎระเบียบ เพื่อการรองรับการขนส่งทางรางในเส้นทางหลักของประเทศ และระหว่างประเทศ ว่า ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟเพียงแค่ 20-30% ขาดอีก 70% ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดึงเอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ระบบขนส่งทางราง ซึ่งในอนาคตระบบรางจะมีการลงทุนและพัฒนาอีกมาก เพื่อให้สามารถเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทาง และการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ประเทศต่างๆ อาทิ จาก สปป.ลาว ไปจีนกลาง และรัสเซีย

“ต้องกล้ามอบระยะเวลาการให้สัมปทานเอกชน มิฉะนั้นเอกชนจะไม่กล้ามาลงทุน ซึ่งหลายประเทศให้สัมปทานถึง 99 ปี ขณะที่ไทยยังไม่กล้าทลายข้อจำกัด คิดแต่เพียงว่าการให้สัมปทานยาวนานเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน ขายชาติ ซึ่งเป็นวาทะกรรมที่พูดกันไป แต่เราต้องมีเหตุผลอธิบายให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าประชาชน และประเทศได้ประโยชน์อย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าหมายว่าการให้เอกชนมาร่วมเดินรถ จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และจากกการหารือกับเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เช่น รัสเซีย เช็ก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอเมริกา

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า แนวทางการศึกษารูปแบบให้เอกชนเข้าร่วมบริการเดินรถนั้น จะเป็นการให้เอกชนเลือกเวลาที่นอกเหนือจากการให้บริการของ รฟท. มาบริหารจัดการและลงทุนเอง ส่วน รฟท. จะได้ค่าเช่าใช้ทางจากเอกชน ส่วนขั้นตอนการให้เอกชนร่วมเดินรถนั้น เริ่มจากให้เอกชนยื่นข้อเสนอขอใช้รางต่อ รฟท. จากนั้น รฟท. จะพิจารณาความเหมาะสมของตารางการเดินรถ (สลอต)/แผนธุรกิจ และจึงเปิดประมูลสลอตให้เข้าใช้ทาง หรืออาจจะดำเนินการแบบไม่ใช้วิธีประมูล ทั้งนี้ ขร. และ รฟท.จะร่วมกันกำหนดแนวทาง หรือเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณของรัฐด้วย

ขณะที่นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จประมาณเดือนก.ค. 2564 แต่เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมีนโยบายต้องการให้มีโครงการนำร่องก่อน ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูล พบว่า กลางปี 2564 น่าจะเริ่มในเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือได้ก่อน เพราะมีทางคู่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ส่งผลให้จะมีสลอตเหลืออีกประมาณ 70% ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ดำเนินการให้เอกชนร่วมเดินรถได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน