มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจับตามาตรการรัฐอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ-ยังคงจีดีพีปีนี้โตติดลบ 7.5-8.5% แนะนำ ชิม ช้อป ใช้ กลับมาอีกครั้ง

ม.หอการค้าจับตารัฐกระตุ้นศก. – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงประมาณการณ์การตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยทั้งปีนี้ อยู่ที่ -7.5% ถึง -8.5% โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะอยู่ที่ -8% ถึง -10% และไตรมาส 4 จะอยู่ที่ -6% ถึง -8% โดยมองมาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผล กระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เห็นชอบล่าสุด แบ่งเป็นโครงการคนละครึ่ง 30,000 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มค่าครองชีพในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 21,000 ล้านบาท นั้น หากมีการใช้วงเงินเต็มจำนวน จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบอย่างน้อย 2-3 รอบ หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้ตัวเลขจีดีพีเฉพาะไตรมาส 4/2563 ติดลบลดลงประมาณ 2-3% ทั้งนี้ ยังต้องติดตามมาตรการดังกล่าวว่าจะประสบความสำเร็จและมีการใช้เม็ดเงินครบทั้ง 510,000 ล้านบาทหรือไม่

พร้อมมองรัฐบาลควรนำมาตรการชิม ช้อป ใช้ กลับมาอีกครั้ง เพราะจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของคนรายได้ระดับปานกลาง และทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 30,000-50,000 ล้านบาท และต้องเร่งพิจารณามาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเน้นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง และเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี เพราะเศรษฐกิจไทย ถูกออกแบบโครงสร้างประเทศให้ขยายตัวได้ด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งหากทำได้ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4 และยังเป็นการทดสอบระบบป้องกันและมาตรการที่จะใช้กำกับดูแลของรัฐบาลด้วย

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าจะส่งผลดีในภาพรวม เพราะจะทำให้ไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ หรือ 0.50% ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพคล่องและการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนต่างๆ แต่ทั้งนี้การที่ดอกเบี้ยสหรัฐ อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในกรอบ 31.00-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนส.ค. 2563 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 32.6 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 31.8 จุดในเดือนก.ค. โดยปัจจัยบวกที่ทำให้ค่าดัชนีดีขึ้น คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ที่เปิดเผยโดยสภาพัฒน์ ติดลบ 12.2%, ความวิตกต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงจากเดิม, ความกังวลสถานการณ์ทางการเมือง, รัฐบาลขยายเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, การนำเข้าและส่งออกสินค้ายังลดลง, ค่า SET Index เดือนส.ค. ปรับลดลง 17.87 จุดจากเดือนก.ค., ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดประจำเดือนส.ค. 2563 พบว่าประเด็นเรื่องของการท่องเที่ยวค่าดัชนีอยู่ในระดับที่แย่ที่สุด เนื่องจากมาตรการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ช่วยให้เกิดการเดินทางเพียงช่วงเสาร์อาทิตย์ ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการให้มีช่วงวันหยุดที่ยาวขึ้น หรือ ส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานในต่างจังหวัด ขณะค่าดัชนีที่แย่รองลงมา คือ การจ้างงานในปัจจุบันที่หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ก็อาจทำให้คนตกงานอย่างน้อย 1 ล้านคน

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย.นี้ ยังคงต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อ หรือบานปลายหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน