นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมรัฐวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ตอัพ) แห่งชาติที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ โดยจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ออกกฎหมายเพื่อใช้สนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพได้อย่างรวดเร็ว ภายในปีนี้ และคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ได้ในต้นปีหน้า

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย จะมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มเติม โดยเสนอให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้จากส่วนต่างการขายหุ้นนอกตลาด (แคปปิตอลเกน) เป็นเวลานาน 5-10 ปี เพื่อจูงใจให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้น

นายพันธุ์อาจ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้สิทธิพิเศษภาษีกับสตาร์ตอัพ โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และยกเว้นภาษีเงินได้ของกองทุนร่วมทุน (VC) เป็นเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของธุรกิจเกิดใหม่ การดำเนินการในช่วง 1-2 ปีแรกจะมีผลขาดทุน ทำให้เจ้าของกิจการไม่ได้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์จากภาษีนี้เต็มที่มากนัก ซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีแคปปิตอลเกนจะทำให้เจ้าของกิจการ รวมถึงผู้ร่วมลงทุนได้รับประโยชน์จากภาษีมากขึ้น

นอกจากนี้ สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ ยังมีการตั้งคณะกรรมการส่งเริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีประธาน เพื่อกำหนดนโยบายของการสนับสนุนสตาร์ตอัพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการรวมกฎหมายของหลายกระทรวง

ขณะเดียวกันยังมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและนวัตกรรมสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพใหม่ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีกฎหมายรอบรับให้ดำเนินกิจการในประเทศไทย ให้เข้ามาใช้ศูนย์นี้ทดสอบการทำธุรกิจ ก่อนที่ได้รับพิจารณาความเหมาะสมให้มีการดำเนินการถูกต้องในกฎหมายต่อไป

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการสตาร์ตอัพจดทะเบียนและดำเนินการ 1,500 ราย ในจำนวนนี้เป็น สตาร์ตอัพ VC จำนวน 500 ราย และยังมีธุรกิจสตาร์ตอัพอีก 8,500 ราย ยังไม่ได้จดทะเบียน หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้คาดว่าจะจูงใจให้ผู้ประกอบการนี้จดทะเบียนดำเนินกิจการเร็วและมากขึ้น สามารถดึงเงินจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศในธุรกิจสตาร์ตอัพมากขึ้น จากปัจจุบันมีเงินลงทุนทั้งเอกชนและภาครัฐ 1,000 ล้านเหรียญ เป็น 3,000 ล้านเหรียญ หลังกฎหมายบังคับใช้

ทั้งนี้ กฎหมายจะมีทั้งหมด 4 หมวด ประกอบหมวดที่ 1 นิยามของสตาร์ตอัพ คือกิจการที่จะทำเบียนไม่เกิน 60 เดือน หรือ 5 ปี ต้องทำธุรกิจที่มีนวัตกรรม มีการวิจัยและพัฒนา หมวดที่ 2 คณะกรรมการ หมวดที่ 3 สิทธิประโยชน์ และ หมวดที่ 4 โครงการตั้งศูนย์ทดสอบธุรกิจสตาร์ตอัพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน