ผู้ว่าธปท.คนใหม่ชูธง5วิสัยทัศน์ ขอเป็น‘กองหลังเศรษฐกิจไทย’: รายงานพิเศษ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้โอกาสขึ้นดำรงตำแหน่ง ควงไมค์พูดคุยเปิดอกกับสื่อมวลชนหลังรับตำแหน่ง ‘ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)’ คนใหม่ ถึงเส้นทาง 5 ปีจากนี้

ในวิกฤตเศรษฐกิจกับพิษโควิด-19

ที่ต้องรับมือในระยะสั้น รวมถึงการกำกับดูแลใช้นโยบายการเงินเพื่อเป็นแรงสนับสนุนส่งต่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระยะต่อไป ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายของผู้ว่าการธปท.คนใหม่

นายเศรษฐพุฒิ โชว์วิสัยทัศน์ ปักธงโจทย์ใหญ่ ที่ขมวดกลุ่มงานของ ธปท. ที่ยอมรับว่ามี ‘หน้างาน’ ที่กว้างมาก ออกมาเหลือ 5 โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการ ในช่วงกุมบังเหียนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

1.เร่งแก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจพ้นวิกฤตโควิด-19 และฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรายย่อย ซึ่งเรื่องสำคัญคือ การดูแลสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้

2.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินให้เข้มแข็งเพียงพอ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบสถาบันการเงินจะมีความสามารถเพียงพอในการทำหน้าที่ของตัวเองในการหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้

3.การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และระยะต่อไปได้ดี

คือ 3 งานหลัก ที่ห้ามตกหล่น บกพร่อง และต้องเอาให้อยู่ตามสไตล์แบงก์ชาติ

ส่วนโจทย์ที่ 4.การสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนให้ ธปท.เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด เป็นโจทย์สำคัญ ถ้าการแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการต่างๆ แล้วมีคำถามตามมา จะทำให้การทำงานของ ธปท.ลำบากมากๆ

หน้าที่ของ ธปท.คือต้องดูภาพรวม ต้องสร้างความมั่นใจผ่านการสื่อสารให้คนเข้าใจในภาพรวมให้ได้ ด้วยชื่อของเราคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” นั่นหมายถึงเราต้องดูทั้งประเทศ

“ผมได้แนวทางการสื่อสารกระบวนการทำงานของ ธปท.ใหม่ นั่นคือ “คิดรอบ ตอบได้” สะท้อนว่าเวลาจะทำอะไรต้องคิด คิดให้รอบคอบ คิดให้เยอะ คิดให้มาก จนนำมาสู่การ “ตอบได้” เพราะเมื่อคิดมาดีแล้ว ก็ต้องตอบทุกคน จากทุกคำถามได้เช่นกัน”

และ 5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท.เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับ เศรษฐกิจและสังคมไทย ที่ผ่านมาผลลัพธ์ของงานอาจจะยังไม่โดดเด่น เพราะหลายอย่างยังติดเรื่องภายใน ทั้งโครงสร้าง และกระบวนการทำงานขององค์กรซึ่งอาจทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับให้มีประสิทธิภาพ

ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งวิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบจำนวนมาก

“ปัญหาครั้งนี้หนักและนาน แต่ท้ายที่สุดก็ยังเชื่อว่าทุกฝ่ายจะแก้ปัญหาไปได้ แต่ต้องใช้เวลา เป็นวิกฤตปัญหาที่คนทำนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่เคยเจอมาก่อน”

ดังนั้นการทำมาตรการใดๆ เพื่อดูแลเศรษฐกิจจากนี้จะเน้น “ความยืดหยุ่นสูง” ในการดำเนินการแก้ปัญหานั่นหมายถึงวิธีการดำเนินการต่างๆ ที่ออกมาต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

เพราะบริบทของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ คือ

1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมา (Uneven) ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของเศรษฐกิจ

2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะใช้เวลานาน (Long) ไม่น้อยกว่า 2 ปีในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า และ 3.ยังมีความไม่แน่นอนสูง (Uncertain)

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม จากการออกมาตรการในการช่วยเหลือในลักษณะ “ปูพรม เหมาเข่ง” เน้นช่วยเหลือให้ทั่วถึง มาเป็น “การช่วยเหลือแบบตรงจุด (Targeted) ครบวงจร (Comprehensive) และยืดหยุ่น (Flexible)” โดยต้องพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัด จึงต้องใช้ให้ถูกจุด

“การออกมาตรการช่วยเหลือหลังจากนี้ จะต้องมองไปข้างหน้า ต้องมองยาว เพราะโจทย์ไม่ใช่แค่ว่า ธปท. ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องคิดโดยมองไปข้างหน้าอย่างน้อย 2 ปี นั่นเพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีว่าเครื่องมือที่จะรองรับระยะเวลาในการแก้ปัญหา 2 ปีมีอะไรบ้าง”

สําหรับทิศทางเศรษฐกิจ นายเศรษฐพุฒิมองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงติดลบต่อเนื่องในไตรมาส 4/2563 ไปถึงต้นปี 2564 ก่อนจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกราวในไตรมาส 2/2564 แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเหมือนเดิมช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในราวไตรมาส 3/2565 และคาดว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะติดลบ -7.8% ถึง -8%

ส่วนการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนว่า เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินไปในทิศทางใดนั้น ย่อมมีทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์ และได้รับผลกระทบ ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องดูถึงสาเหตุและปัจจัยรอบด้าน

“มีการพูดถึงว่านโยบายการเงินมาถึงทางตันในการช่วยดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศหรือยังนั้น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนอกจากจะอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคด้วย จึงทำให้มีข้อจำกัด ดังนั้นเห็นว่าในช่วงนี้บทบาทของมาตรการทางการคลังคงจะต้องเป็นหลักหรือเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ การจะให้มาตรการการเงินเป็นตัวขับเคลื่อน หรือเป็นตัว drive คงเป็นไปไม่ได้”

มาตรการเพิ่มเติมที่จะนำออกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาและอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้มาตรการที่จะออกมานี้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่ได้เป็นมาตรการที่เร่งด่วนที่ต้องรีบออกมา ยาที่จะออกมากำลังดูอยู่ ต้องใช้เวลา ไม่อยากทำอะไรออกมาเหมือนสักแต่คลอดมาตรการเป็นสีสัน อยาก Make sure ว่ายาที่ออกมาจะเหมาะสม กำลังดูอยู่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีความเร่งด่วน

ผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุอีกว่า

“ถ้าเปรียบกับทีมฟุตบอลแล้ว นโยบายการเงินไม่ใช่กองหน้า แต่เราเป็นกองหลัง ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เราก็มีข้อจำกัด เพราะทีมฟุตบอลถ้ากองหลังไม่แข็ง เตะอย่างไรก็แพ้ เราต้องเมกชัวร์ในเรื่องต่างๆ แต่จะให้ทีมชนะเพราะกองหลังก็คงไม่ใช่อีก มันต้องมีการประสานกัน และอาศัย เครื่องมืออื่นๆ มาช่วยด้วยในยามนี้ คงไม่เฉพาะไทยเองแต่ประเทศอื่นๆ ก็คงเช่นกัน”

พรเทพ อินพรหม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน